ความแตกต่างระหว่าง ภ.ง.ด.50 และ ภ.ง.ด.51

ความแตกต่างระหว่าง ภ.ง.ด.50 และ ภ.ง.ด.51

ภ.ง.ด.50 เป็นแบบภาษีที่เอาไว้ยื่นภาษีเงินได้นิติบุคคลตอนปลายปี ส่วน ภ.ง.ด.51 เป็นแบบภาษีที่เอาไว้ยื่นภาษีเงินได้นิติบุคคลตอนกลางปี

ภ.ง.ด 50 คืออะไร?

ตามกฎหมายแล้วนิติบุคคล (เช่น ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด บริษัทมหาชนจำกัด) มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้เงินนิติบุคคล ซึ่งตามกฎหมายกำหนดให้นิติบุคคลเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลปีละ 2 ครั้งคือตอนกลางปี และตอนปลายปี

สำหรับการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตอนปลายปีนั้นจะต้องใช้แบบ ภ.ง.ด. 50 เป็นแบบที่ผู้ประกอบการต้องกรอก เซ็นรับรองแบบโดยกรรมการหรือฝ่ายบัญชี ผู้สอบบัญชี และต้องแนบงบการเงินที่มีผู้สอบบัญชีเซ็นรับรอง เพื่อนำส่งกรมสรรพากร โดยตามกฎหมายนิติบุคคลมีหน้าที่นำส่งแบบดังกล่าวภายใน 150 วัน ยกตัวอย่างเช่น หาก บริษัท Z จำกัด ปิดงบประจำปีวันที่ 31 ธันวาคม บริษัท Z จำกัด ก็มีหน้าที่ต้องนำส่งแบบ ภ.ง.ด.50 ภายในวันที่ 30 พฤษภาคม ของปีถัดไป (150 วันนับจากวันที่ 31 ธันวาคม)

หลักการในการกรอกแบบ ภ.ง.ด.50 คือผู้ประกอบการ/ผู้ทำบัญชี จะต้องหากำไรทางภาษีมาคูณกับอัตราภาษีและนำมากรอกในแบบ ภ.ง.ด.50

ภาษีเงินได้นิติบุคคล = กำไรทางภาษี x อัตราภาษี  

วิธีการกรอกแบบ ภ.ง.ด.50

สำหรับตัวอย่างแบบ ภ.ง.ด.50 และวิธีการในการกรอกแบบ ทุกท่านสามารถดูรายละเอียดจากกรมสรรพากรตามลิงค์นี้ได้เลยครับ : วิธีการกรอกแบบ ภ.ง.ด.50

ภ.ง.ด. 51 คืออะไร?

ตามที่ผมได้กล่าวไปแล้วว่าตัวภาษีเงินได้นิติบุคคลนั้นจะต้องยื่น 2 ครั้งนั่นคือกลางปีและปลายปี ภ.ง.ด.51 เป็นแบบภาษีที่เอาไว้ยื่นตอนกลางปี ซึ่งตัวแบบดังกล่าวจะต้องเซ็นรับรองแบบโดยกรรมการหรือฝ่ายบัญชี เพื่อนำส่งกรมสรรพากร ตามกฎหมายนิติบุคคลมีหน้าที่นำส่งแบบดังกล่าวภายใน 2 เดือนนับจากวันที่กลางปี ยกตัวอย่างเช่น หาก บริษัท Y จำกัด ปิดงบประจำปีวันที่ 31 ธันวาคม กลางปีคือวันที่ 30 มิถุนายน ดังนั้นบริษัท Y จำกัด ก็มีหน้าที่ต้องนำส่งแบบ ภ.ง.ด.51 ภายในเดือน สิงหาคม ของทุกปี (2 เดือนนับจากเดือนมิถุนายน)

วิธีการกรอกแบบ ภ.ง.ด. 51

สำหรับการกรอกแบบ ภ.ง.ด.51 จะมีรายละเอียดเพิ่มเติมที่ควรทราบคือ การคำนวณภาษีกลางปีจะมี 3 รูปแบบให้เลือกคือ

  1. กรณีเสียภาษีจากกึ่งหนึ่งของประมาณการกำไรสุทธิ
  2. กรณีเสียภาษีจากกำไรสุทธิของรอบระยะเวลาบัญชีหกเดือนแรก
  3. กรณีเสียภาษีจากยอดรายรับก่อนหักรายจ่าย

สำหรับกรณีแรก : กรณีเสียภาษีจากกึ่งหนึ่งของประมาณการกำไรสุทธิ จะเอาไว้ใช้สำหรับนิติบุคคลทั่วๆไปที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ไม่ได้เป็นธนาคาร ไม่ได้เป็นธุรกิจหลักทรัพย์ หรือไม่ได้เป็นธุรกิจประกันภัย โดยให้ประมาณการกำไรสุทธิประจำปี แล้วเอามาเสียภาษีครึ่งหนึ่ง

สำหรับเหตุผลที่จะใช้ประมาณการกำไร เนื่องจากว่าบริษัทกลุ่มนี้ โดยมากแล้วจะปิดบัญชีกันปีละหนึ่งครั้งคือตอนสิ้นปีทีเดียว ดังนั้นจึงยังไม่มีตัวเลขกำไรที่แท้จริงในรอบครึ่งปีที่ผ่านมา จึงต้องเสียภาษีจากประมาณการกำไรสุทธิประจำปี แล้วเอามาเสียภาษีครึ่งหนึ่งไปก่อน

สำหรับกรณีที่สอง : กรณีเสียภาษีจากกำไรสุทธิของรอบระยะเวลาบัญชีหกเดือนแรก บริษัทกลุ่มนี้ เช่น บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ธนาคาร ธุรกิจหลักทรัพย์ หรือประกันภัย ให้เสียภาษีจากกำไรที่เกิดขึ้นจริงในช่วงครึ่งปีแรก

สำหรับเหตุผลที่จะใช้กำไรที่เกิดขึ้นจริง เนื่องจากว่าบริษัทกลุ่มนี้ โดยมากแล้วจะปิดบัญชีกันทุกๆเดือนและจะต้องมีผู้สอบบัญชีมาสอบทาน/ตรวจสอบงบการเงินอย่างน้อยไตรมาศละครั้ง ดังนั้นบริษัทกลุ่มนี้จึงมีตัวเลขกำไรที่แท้จริงในรอบครึ่งปีที่ผ่านมา จึงต้องเสียภาษีจากกำไรที่เกิดขึ้นจริงในช่วงครึ่งปีแรกได้

สำหรับกรณีที่สาม : กรณีเสียภาษีจากยอดรายรับก่อนหักรายจ่าย สำหรับผู้เสียภาษีในกรณีนี้จะมีอยู่ 2 ประเภทหลักๆดังนี้

  1. กิจการขนส่งระหว่างประเทศของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลต่างประเทศ
  2. มูลนิธิหรือสมาคมที่ประกอบกิจการแล้วมีรายได้

ฐานภาษีของนิติบุคคล กลุ่มนี้จะเสียภาษีจากรายรับก่อนหักรายจ่ายครับ และในการยื่นแบบเพื่อเสียภาษีตอนปลายปี หากเป็นกิจการขนส่งระหว่างประเทศของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลต่างประเทศจะใช้แบบ ภ.ง.ด.52 หากเป็น มูลนิธิหรือสมาคมที่ประกอบกิจการแล้วมีรายได้ จะใช้แบบ ภ.ง.ด.55 โดยจะต้องนำส่งภาษีภายใน 150 วันนับจากวันที่สิ้นรอบบัญชีครับ

สำหรับตัวอย่างแบบ ภภ.ง.ด.51 และวิธีการในการกรอกแบบ ทุกท่านสามารถดูรายละเอียดจากกรมสรรพากรตามลิงค์นี้ได้เลยครับ : วิธีการกรอกแบบ ภ.ง.ด.51

สรุป

สำหรับท่านที่ยังสงสัยว่า แบบ ภ.ง.ด.50 และ แบบ ภ.ง.ด.51 คืออะไร? สามารถสรุปง่ายๆได้แบบนี้ครับว่า ภ.ง.ด.50 เป็นแบบที่เอาไว้ใช้ยื่นภาษีเงินได้นิติบุคคลตอนปลายปี ส่วนแบบ ภ.ง.ด.51 เป็นแบบที่เอาไว้ใช้ยื่นภาษีเงินได้นิติบุคคลตอนกลางปี


สามารถอ่านบทความน่าสนใจอื่นๆได้ ที่นี่ คลิ๊ก!!



บทความโดย : tanateauditor.com

 4159
ผู้เข้าชม

บทความที่เกี่ยวข้อง

กิจการขนาดเล็กมักมีข้อจำกัดเรื่องเงินทุนหมุนเวียนรวมทั้งกำลังคน การจัดวางพนักงานในหน้าที่ต่างๆจึงไม่ค่อยมีการแบ่งแยกหน้าที่ พนักงานหนึ่งคนต้องรับผิดชอบงานหลายอย่างและอย่าได้หวังว่าจะมีแผนกต่างๆเหมือนองค์กรขนาดใหญ่
ครม. เห็นชอบปรับปรุงหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขของการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลทั่วไป และของสถาบันการเงิน เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้และสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน
เจ้าของธุรกิจทั้งในนามบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล มักนิยมทำการตลาดผ่านโซเชียล เนื่องจากสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายจำนวนมากและรวดเร็ว แต่เจ้าของธุรกิจอาจจะไม่ได้ให้ความสำคัญกับรายจ่ายตรงนี้มากเท่าไหร่
เงินได้มาตรา 40(1) หัก ณ ที่จ่ายตามอัตราก้าวหน้า คือ การประมาณรายได้พนักงานทั้งปี แล้วหักด้วยค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนเพื่อหาเงินได้สุทธินำส่งนำไปคำนวณภาษี นำเงินได้สุทธิมาคูณอัตราภาษีตามอัตราก้าวหน้า (0%-35%) เมื่อได้ยอดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่จะต้องเสีย จึงนำมาหารเฉลี่ยตามงวดที่จ่าย
นักลงทุนควรที่ความสำคัญกับการทำความเข้าใจในงบการเงินของกิจการ โดยนักลงทุนจะต้องทราบถึงความสำคัญของงบการเงิน ว่ามีความสำคัญอย่างไร เพราะข้อมูลในงบการเงินของแต่ละกิจการนั้น จะสามารถบ่งชี้ให้เราทราบถึงโอกาสในการลงทุนโดยดูจากข้อมูลภายในงบการเงินนั้นๆ งบการเงินของบริษัท ซึ่งในบทความนี้ผู้เขียนต้องการที่จะกล่าวถึง สาระสำคัญของงบการเงินที่นักลงทุนควรที่จะต้องพิจารณา โดยมีด้วยกันอยู่ 2 รายงาน และ 3 งบ ดังนี้

สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์