การกำหนดเลขที่บัญชี (Chart of Accounts)

การกำหนดเลขที่บัญชี (Chart of Accounts)


            ในช่องที่ 3 ของสมุดรายวันทั่วไปเป็นช่องที่ใช้บันทึกเลขที่บัญชีของบัญชีต่าง ๆ ที่บันทึกไว้ในสมุดรายวันทั่วไป ซึ่งเลขที่บัญชีนี้จะต้องถูกกำหนดอย่างมีระบบ โดยตามมาตรฐานโดยปกติทั่วไปแล้ว เลขที่บัญชีจะต้องถูกกำหนดตามหมวดบัญชี โดยบัญชีทั้งหมดจะถูกแบ่งออกเป็น 5 หมวด ดังนี้

            หมวดที่ 1            หมวดสินทรัพย์                  รหัสบัญชี คือ       1

            หมวดที่ 2            หมวดหนี้สิน                     รหัสบัญชี คือ       2

            หมวดที่ 3            หมวดส่วนของเจ้าของ       รหัสบัญชี คือ        3

            หมวดที่ 4            หมวดรายได้                     รหัสบัญชี คือ       4

            หมวดที่ 5            หมวดค่าใช้จ่าย                 รหัสบัญชี คือ       5

            ดังนั้นหากเป็นบัญชีหมวดสินทรัพย์ เช่น เงินสด ลูกหนี้ ที่ดิน เลขที่บัญชีก็จะขึ้นต้นด้วยเลข 1 หากเป็นบัญชีหมวดหนี้สิน เช่น เจ้าหนี้ เงินกู้ระยะยาว หุ้นกู้ เลขที่บัญชีก็จะขึ้นต้นด้วยเลข 2 หากเป็นบัญชีหมวดส่วนของเจ้าของ เช่น ทุน ถอนใช้ส่วนตัว เลขที่บัญชีก็จะขึ้นต้นด้วยเลข 3 หากเป็นบัญชีหมวดรายได้ เช่น รายได้ค่าเช่า ดอกเบี้ยรับ รายได้อื่น ๆ เลขที่บัญชีก็จะขึ้นต้นด้วยเลข 4 และหากบัญชีหมวดค่าใช้จ่าย เช่น ค่าเช่า เงินเดือน ค่าสาธารณูปโภค เลขที่บัญชีก็จะขึ้นต้นด้วยเลข 5

            แต่สำหรับเลขที่บัญชีจะมีจำนวนกี่หลักนั้น ขึ้นอยู่กับกิจการแต่ละกิจการ หากกิจการใดเป็นกิจการขนาดเล็กที่มีบัญชีต่าง ๆ อยู่เป็นจำนวนไม่มาก ก็อาจจะใช้เลขที่บัญชีจำนวน 2 หลัก โดยหลักแรกแสดงถึงหมวดของบัญชี และหลักหลังแสดงถึงบัญชีต่าง ๆ ในหมวดนั้น ๆ เช่น เงินสด เลขที่บัญชี 11 เงินฝากธนาคาร เลขที่บัญชี 12 เป็นต้น แต่ถ้าหากกิจการใดเป็นกิจการที่มีขนาดใหญ่และมีบัญชีต่าง ๆ เป็นจำนวนมากก็อาจจะกำหนดเลขที่บัญชีให้มีหลาย ๆ หลัก อาจจะเป็น 3 หลัก 4 หลัก หรือ มากกว่านั้นก็ได้ ซึ่งหลักแรกแสดงถึงหมวดของบัญชี หลักกลางแสดงถึงประเภทของบัญชีในหมวดนั้น ๆ หรืออาจจะไม่มีการแบ่งประเภทบัญชีก็ได้แต่ที่ต้องมีมากกว่า 2 หลักนั้น เนื่องจากว่าบัญชีต่าง ๆ ของกิจการมีจำนวนมาก สำหรับหลักหลังแสดงถึงบัญชีต่าง ๆ ในหมวดบัญชีและประเภทบัญชีนั้น ๆ เช่น เงินสด เลขที่บัญชี 101 ที่ดิน เลขที่บัญชี 151 เป็นต้น โดยที่ 1 แสดงให้เห็นว่าเป็นบัญชีหมวดสินทรัพย์ 0 แสดงให้เห็นว่าเป็นสินทรัพย์หมุนเวียน และ 1 แสดงให้เห็นว่าเป็นสินทรัพย์หมุนเวียนอันดับที่ 1 คือ เงินสด

            สำหรับหลักหลังของเลขที่บัญชีในแต่ละหมวดนั้นก็จะถูกกำหนดด้วยหลักเกณฑ์แตกต่างกันไป โดยหมวดสินทรัพย์นั้น หลักหลังของเลขที่บัญชีจะเรียงตามสภาพคล่องของสินทรัพย์ โดยเรียงจากสภาพคล่องมากไปหาสภาพคล่องน้อย เช่น เลขที่บัญชีของเงินสด จะมาก่อนเลขที่บัญชีของลูกหนี้ เป็นต้น สำหรับหมวดหนี้สิน หลักหลังของเลขที่บัญชีก็จะเรียงตามสภาพคล่องของหนี้สินเช่นกัน เช่น เลขที่บัญชีของเจ้าหนี้ จะมาก่อนเลขที่บัญชีของเงินกู้ระยะยาว เป็นต้น สำหรับหมวดส่วนของเจ้าของ หลักหลังของเลขที่บัญชีจะเรียงตามการเกิดขึ้นก่อนหลัง เช่นการที่เจ้าของนำสินทรัพย์มาลงทุนทำให้เกิดบัญชีทุน ก่อนที่เจ้าของกิจการจะถอนเงินออกไปใช้ จึงทำให้เลขที่บัญชีของบัญชีทุน มาก่อนเลขที่บัญชีถอนใช้ส่วนตัว สำหรับหมวดรายได้และหมวดค่าใช้จ่าย หลักหลังของเลขที่บัญชีจะเรียงความสำคัญของรายได้และค่าใช้จ่าย นั่นก็คือว่ารายได้และค่าใช้จ่ายหลักของกิจการที่เกิดขึ้นบ่อย ๆ จะมากก่อนรายได้และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นนาน ๆ ครั้ง ซึ่งมีความสำคัญน้อยกว่า เช่น เลขที่บัญชีรายได้ค่าเช่าซึ่งเป็นรายได้หลักของกิจการให้เช่ารถ จะมาก่อนเลขที่บัญชีดอกเบี้ยรับซึ่งเป็นรายได้ที่เกิดขึ้นจากการที่กิจการนำเงินไปฝากธนาคาร เป็นต้น หรือเลขที่บัญชีของเงินเดือน จะมาก่อนเลขที่บัญชีของค่ารับรอง เป็นต้น

 

ตัวอย่างของการกำหนดเลขที่บัญชี หรือที่เรียกว่าผังบัญชี (Chart of Account)

 

เงินสด

101

เงินฝากธนาคาร

102

เงินลงทุนระยะสั้น

103

ลูกหนี้

104

ตั๋วเงินรับ

105

วัสดุสำนักงาน

106

เงินลงทุนระยะยาว

121

ที่ดิน

131

อาคาร

132

เครื่องใช้สำนักงาน

133

เครื่องตกแต่ง

134

รถยนต์

135

เจ้าหนี้

201

ตั๋วเงินจ่าย

202

เงินกู้จำนอง

211

ทุน-นาย ก.

301

ถอนใช้ส่วนตัว

302

รายได้ค่าออกแบบ

401

รายได้บริการปรึกษา

402

ดอกเบี้ยรับ

403

รายได้อื่น ๆ

404

เงินเดือน

501

ค่าโฆษณา

502

ค่ารับรอง

503

ดอกเบี้ยจ่าย

504

ค่าสาธารณูปโภค

505

ค่าประกันภัย

506

ค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ด

507

สามารถอ่านบทความน่าสนใจอื่นๆได้ ที่นี่ คลิ๊ก!!

บทความโดย http://coursewares.mju.ac.th

 2066
ผู้เข้าชม

บทความที่เกี่ยวข้อง

การปิดงบการเงินแบบ normal อาจจะเป็นเรื่องไม่ normal อีกต่อไป ตั้งแต่มี Covid-19 เข้ามา แทบจะทุกธุรกิจได้รับผลกระทบจากโควิด เริ่มตั้งแต่ธุรกิจต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ และแน่นอนว่าผลกระทบเหล่านี้ย่อมต้องสะท้อนออกมาในงบการเงินอย่างถูกต้องและเหมาะสมเช่นกัน ก่อนจะปิดบัญชีปีนี้มีจุดเสี่ยงสำคัญอะไรในงบการเงินบ้างที่นักบัญชีต้องเรียนรู้ เราขออาสาพาทุกท่านมาทำความเข้าใจไปพร้อมๆ กันเลย ในบทความนี้ค่ะ
หลักฐานที่แสดงถึงการปฏิบัติงานตรวจสอบและรับรองบัญชี  หลักฐานที่ได้รับจากการปฏิบัติงานตรวจสอบและรับรองบัญชี และสิ่งที่ตรวจพบจากการตรวจสอบของผู้สอบบัญชีภาษีอากร  ซึ่งได้แก่ เอกสารที่ผู้สอบบัญชีภาษีอากรได้จัดทำขึ้นเอง  เอกสารที่ได้รับมาจากกิจการที่ทำการตรวจสอบ  หรือที่ขอจากบุคคลภายนอกกิจการ ทั้งนี้ เพื่อใช้ในการจัดทำรายงานการตรวจสอบและรับรองบัญชี
ส่วนลด (Discount) หมายถึง จำนวนเงินที่ผู้ขายยอมลดให้กับผู้ซื้อ ซึ่งถือเป็นกลยุทธ์ทางการตลาดของผู้ขาย ในการจูงใจให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อสินค้า หรือจูงใจให้ผู้ซื้อสินค้าปริมาณมาก หรือเพื่อจูงใจให้ลูกค้าที่ซื้อสินค้าเป็นเงินเชื่อมาชำระหนี้เร็วขึ้นในการดำเนินธุรกิจซื้อ-ขายสินค้านั้น มักจะให้ส่วนลดแก่ผู้ซื้อใน 2 ลักษณะคือ
การทำบัญชี จะทำให้กิจการทราบผลการดำเนินงานฐานะทางการเงินของธุรกิจและความมั่นคงของธุรกิจโดยในการจัดทำบัญชีของสำนักงานบัญชีนั้นจะบันทึกบัญชีรายการต่างๆ ที่เกิดขึ้นในการดำเนินธุรกิจ เช่น การลงทุนรายรับ และ รายจ่าย ที่เป็นของกิจการนั้นโดยไม่นำส่วนที่เป็นของส่วนตัว(ส่วนของเจ้าของ) เข้ามาบันทึกด้วยเมื่อมีการบันทึกรายการต่างๆ ที่เกิดขึ้นแล้วข้อมูลที่ได้บันทึกไว้นั้นจะสามารถนำมาจัดทำเป็นรายงานทางการเงินได้ เช่น งบดุลและงบกำไรขาดทุนซึ่งเป็นภาพสะท้อนในการดำเนินธุรกิจดังนี้ คือ
สินค้าขายได้ดีไหม เราถือสินค้าไว้นานเท่าไรกว่าจะขายได้ นักบัญชีจะช่วยเจ้าของธุรกิจวิเคราะห์สินค้าคงเหลือได้อย่างไรบ้าง

สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์