ทำความรู้จักกับ บอจ.2 บอจ.3 บอจ.5

ทำความรู้จักกับ บอจ.2 บอจ.3 บอจ.5


บอจ.2 บอจ.3 บอจ.5
 เป็นเอกสารประกอบการจดทะเบียนที่สำคัญอย่างหนึ่งเวลาที่เราเอาบริษัทไปทำธุรกรรมในด้านต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น เวลาที่เราไปเปิดบัญชีธนาคารในนามบริษัทธนาคารก็จะขอ บอจ.2 บอจ.3 บอจ.5 ในบทความนี้เราจะมาดูกันว่าเอกสารดังกล่าวนั้นคืออะไร

บอจ.2 หนังสือบริคณห์สนธิ

บอจ.2 หรือ หนังสือบริคณห์สนธิ เป็นเอกสารที่ผู้เริ่มก่อการของบริษัท ได้จัดทำขึ้น และได้ลงลายมือชื่อร่วมกันตามข้อกำหนดของกฎหมายในการจัดตั้งบริษัทจำกัด ซึ่งข้อมูลสำคัญๆที่อยู่ในแบบ บอจ.2 จะมีดังต่อไปนี้

  1. ชื่อของบริษัททั้งภาษาไทย และภาษาอังกฤษ
  2. จังหวัดที่ตั้งของบริษัท
  3. วัตถุประสงค์ของบริษัท
  4. รายละเอียดทุนของบริษัท
  5. รายละเอียดและลายเซ็นของผู้เริ่มก่อการ ที่เข้าชื่อร่วมกัน

ตัวอย่างแบบ บอจ.2 หนังสือบริคณห์สนธิ แสดงได้ดังนี้

บอจ.2

บอจ.3 รายการจดทะเบียนจัดตั้ง

บอจ.3 หรือ รายการจดทะเบียนจัดตั้ง เป็นแบบที่แสดงให้เห็นถึงรายละเอียดทุนของบริษัท ดังนี้

  1. จำนวนหุ้นทั้งสิ้นของบริษัท
  2. จำนวนหุ้นสามัญ และจำนวนหุ้นบุริมสิทธิของบริษัท
  3. จำนวนเงินที่ได้ใช้แล้วในแต่ละหุ้น แบ่งเป็นจำนวนเงินที่ใช้แล้วของแต่ละหุ้นสามัญ และจำนวนเงินที่ใช้แล้วของแต่ละหุ้นบุริมสิทธิ
  4. จำนวนเงินที่บริษัทได้รับค่าหุ้นรวมทั้งสิ้น แบ่งเป็น จำนวนเงินรวมที่ได้รับของหุ้นสามัญ และจำนวนเงินรวมที่ได้รับของหุ้นบุริมสิทธิ
  5. จำนวนหรือชื่อกรรมการ ผู้ที่ลงลายมือชื่อผูกพันบริษัท

ตัวอย่างแบบ บอจ.3 รายการจดทะเบียนจัดตั้ง แสดงได้ดังนี้


บอจ.5 สำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น

บอจ.5 หรือ สำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น เป็นแบบที่แสดงให้เห็นว่าในบริษัทนี้ มีใครเป็นผู้ถือหุ้นอยู่บ้าง รายละเอียดที่สำคัญมีดังต่อไปนี้

  1. ชื่อ เลขทะเบียน ของบริษัท
  2. รายละเอียดที่แสดงว่า บอจ.5 นี้เป็นทะเบียนของผู้ถือหุ้น ณ วันไหน เช่น ณ วันที่ประชุมจัดตั้งบริษัท ณ วันที่คัดจากสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น
  3. มูลค่าทุนจดทะเบียน จำนวนหุ้น และมูลค่าราคาพาร์ของหุ้น
  4. จำนวนผู้ถือหุ้นทั้งหมด
  5. รายละเอียดของผู้ถือหุ้นแต่ละคน โดยมีรายละเอียด ชื่อ นามสกุล เลขบัตรประชาชน สัญชาติ อาชีพ ที่อยู่ จำนวนหุ้นที่ถือ และชำระแล้วหุ้นละกี่บาท เลขหมายหุ้น และวันที่ลงทะเบียนเป็นผู้ถือหุ้น เป็นต้น

ตัวอย่างแบบ บอจ.5 สำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น แสดงได้ดังนี้


วิธีการขอเอกสาร บอจ.2 บอจ.3 บอจ.5

หลายๆท่านอาจสงสัยว่าตัวแบบ บอจ.2 หนังสือบริคณห์สนธิ บอจ.3 รายการจดทะเบียนจัดตั้ง บอจ.5 สำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น ของบริษัทนั้นจะหาได้จากไหน คำตอบคือชุดเอกสารดังกล่าวจะมาพร้อมกับตอนจดจัดตั้งบริษัทเสร็จครับ หากท่านไหนจดทะเบียนโดยยื่นเป็นกระดาษที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ก็ให้คัดเอกสารทั้ง Set ในการจดจัดตั้งบริษัทมาด้วย ก็จะมีเอกสารดังกล่าวอยู่ในนั้น

หากท่านใดหาเอกสารชุดดังกล่าวไม่เจอ ไม่ต้องกังวลไปครับ เอกสารชุดดังกล่าวสามารถทำเรื่องขอคัดเอกสารได้ง่ายๆแบบออนไลน์ ผมเคยเขียนวิธีการคัดหนังสือรับรองบริษัทแบบออนไลน์เอาไว้แล้ว การคัดเอกสารอื่นๆ เช่น บอจ.2 บอจ.3 บอจ.5 ก็จะทำคล้ายๆกันครับ ลองดูวิธีการแบบละเอียดในบทความนี้กันได้เลยครับ : คัดหนังสือรับรองบริษัทออนไลน์ทำอย่างไร?

ผมเขียนสรุปวิธีการให้อีกทีดังนี้นะครับ

  1. กดเข้าสู่ระบบ โดยใช้ Username Password ตอนที่จดทะเบียน E-Registration หรือกดสมัครสมาชิกใหม่ กรณีที่ยังไม่มี Username Password : เข้าสู่ระบบ
  2. พอ Log in เข้าระบบแล้วให้กดเลือก “หนังสือรับรองนิติบุคคล รับรองสำเนา และถ่ายเอกสารทางทะเบียน งบการเงิน บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น”
  3. หลังจากนั้นให้กดเลือกวิธีการรับเอกสารในที่นี่ผมชอบรับเอกสารเป็น Soft file ก็ให้เลือก “รับเป็นไฟล์อิเล็กทรอนิกส์”
  4. หลังจากนั้นให้เราใส่เลขประจำตัวผู้เสียภาษีของบริษัท
  5. หลังจากนั้นระบบจะขั้นมาให้เลือกว่า จะคัด หนังสือรับรอง หรือ รับรองสำเนา ให้เราเลือก “รับรองสำเนา”
  6. พอเลือกรับรองสำเนา เสร็จเรียบร้อยแล้ว ระบบก็จะมี List เอกสารแสดงขึ้นมาว่าจะคัดเอกสารอะไรบ้าง ก็ให้เราเลือก บอจ.2 บอจ.3 บอจ.5 และดำเนินการชำระเงินค่าธรรมเนียมในการคัดเอกสารต่อไปให้จบกระบวนการ
  7. เมื่อชำระค่าธรรมเนียมเรียบร้อยแล้ว รอซักครู่จะมี Email แจ้งเราว่าได้เอกสารแล้ว ก็ให้เรา Log in เข้าสู่ระบบอีกครั้งหนึ่ง แถบทางฝั่งซ้ายมือให้เลือก ตรวจสอบ และเลือก ดาวน์โหลดไฟล์/ใบเสร็จ เพียงเท่านี้เราก็จะได้รับเอกสารชุดดังกล่าวตามที่เราต้องการแล้วครับ

สรุป

บอจ.2 บอจ.3 บอจ.5 เป็นเอกสารสำคัญที่ทางบริษัทนั้นได้จัดทำขึ้นตอนจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท ซึ่งมักจะเป็นเอกสารที่ต้องเอาไปใช้ทำรายการธุรกรรมต่างๆที่สำคัญๆของบริษัท เช่น การเปิดบัญชีธนาคารเป็นต้น หลังจากที่ได้อ่านบทความนี้ไปแล้ว หวังว่าทุกท่านก็จะได้ทราบว่าเอกสารแต่ละตัวคืออะไร แล้ววิธีการคัดเอกสารชุดดังกล่าวนั้นทำอย่างไรกันนะครับ

สามารถอ่านบทความน่าสนใจอื่นๆได้ ที่นี่ คลิ๊ก!



ขอบคุณที่มา : https://tanateauditor.com/

 2815
ผู้เข้าชม

บทความที่เกี่ยวข้อง

ตัวเลขหรือรหัสที่ใช้ในการจัดหมวดหมู่ผังบัญชีขององค์กร ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งในการจัดการและควบคุมทางบัญชี โดยรหัสบัญชีนี้จะถูกนำมาใช้ในกระบวนการบันทึกบัญชีและการจัดทำรายงานทางการเงิน หรือที่เรียกว่า ระบบบัญชีแยกประเภท (General Ledger) เพื่อให้การบันทึกและการวิเคราะห์ข้อมูลทางการเงินเป็นระเบียบช่วยให้สามารถตรวจสอบและวิเคราะห์ข้อมูลทางการเงินได้อย่างเป็นระบบ และสามารถนำมาใช้อ้างอิงได้อย่างถูกต้อง
ในวงการวิชาชีพบัญชี ประเด็นที่ค่อนข้างสำคัญต่อการเปลี่ยนผ่านและเปลี่ยนแปลง เนื่องจากด้านเทคโนโลยีในวงการวิชาชีพบัญชียังคงพัฒนาไปอย่างต่อเนื่อง นับวันยิ่งเป็นไปอย่างก้าวกระโดด ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้ก็ช่วยให้ธุรกิจสามารถดำเนินงานไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผลอย่างเห็นได้ชัดอย่างใน ปี 2020 แนวโน้มจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง นักบัญชีจะต้องเตรียมความพร้อมและรับมืออย่างไร
ไม่ว่าจะเป็นกิจการเล็กหรือใหญ่คงหนีไม่พ้นที่จะมีค่าใช้จ่ายเล็กๆ น้อยๆ ที่ต้องจ่ายจากเงินสด ระบบควบคุมภายในที่เกี่ยวกับเงินสด จะช่วยให้เราสามารถจัดการกับเงินสดได้โดยไม่ทำให้เกิดจุดอ่อนที่อาจก่อให้เกิดการรั่วไหลได้ ฉะนั้น การใช้จ่ายโดยผ่านระบบของเงินสดย่อยจึงจำเป็นอย่างช่วยไม่ได้ เงินสดย่อย Petty Cash Fund คือ เงินสดที่มีไว้ใช้จ่าย สำหรับค่าใช้จ่ายในจำนวนเงินที่เล็กๆ น้อยๆ และเป็นรายการที่เกิดขึ้นเป็นประจำ ในลักษณะที่ว่าไม่สะดวกพอที่จะจ่ายเป็นเช็ค สำหรับผู้ที่ดูแลรับผิดชอบเกี่ยวกับเงินสดย่อย เราเรียกง่าย ๆ ว่า 
ภาษี หัก ณ ที่จ่าย เป็นภาษีที่คนวัยทำงานทุกคนจะต้องเคยเห็น แต่หลายคนก็อาจจะไม่เข้าใจว่ามันคืออะไร ใครต้องเป็นคนจ่าย หักเงินยังไง เมื่อไหร่ บทความชิ้นนี้จะมาแนะนำให้เรารู้จักกับภาษีหัก ณ ที่จ่าย พร้อมระบุประเภทและอัตราการหักภาษีแบบที่เข้าใจง่าย
นักลงทุนควรที่ความสำคัญกับการทำความเข้าใจในงบการเงินของกิจการ โดยนักลงทุนจะต้องทราบถึงความสำคัญของงบการเงิน ว่ามีความสำคัญอย่างไร เพราะข้อมูลในงบการเงินของแต่ละกิจการนั้น จะสามารถบ่งชี้ให้เราทราบถึงโอกาสในการลงทุนโดยดูจากข้อมูลภายในงบการเงินนั้นๆ งบการเงินของบริษัท ซึ่งในบทความนี้ผู้เขียนต้องการที่จะกล่าวถึง สาระสำคัญของงบการเงินที่นักลงทุนควรที่จะต้องพิจารณา โดยมีด้วยกันอยู่ 2 รายงาน และ 3 งบ ดังนี้
( ภาษาอังกฤษ There are many types )บัญญัติศัพท์โดยให้สมาคมนักบัญชีและผู้สอบบัญชีรับอนุญาติแห่งประเทศไทย ได้ให้ความหมายของหนี้สินว่า หมายถึง จำนวนเงินที่กิจการเป็นหนี้บุคคลอื่นหรือพันธะอันเกิดจากรายการค้า การกู้ยืมหรือเกิดจากการอื่น ซึ่งจะต้องชำระคืนในภายหน้าด้วยสินทรัพย์ หรือบริการ เช่น เจ้าหนี้การค้า เงินกู้เงินเบิกเกินบัญชีธนาคาร เจ้าหนี้อื่น ๆ เป็นต้น

สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์