การจัดทำกระดาษทำการสำหรับผู้สอบบัญชี

การจัดทำกระดาษทำการสำหรับผู้สอบบัญชี

กระดาษทำการคืออะไร

หลักฐานที่แสดงถึงการปฏิบัติงานตรวจสอบและรับรองบัญชี  หลักฐานที่ได้รับจากการปฏิบัติงานตรวจสอบและรับรองบัญชี และสิ่งที่ตรวจพบจากการตรวจสอบของผู้สอบบัญชีภาษีอากร  ซึ่งได้แก่ เอกสารที่ผู้สอบบัญชีภาษีอากรได้จัดทำขึ้นเอง  เอกสารที่ได้รับมาจากกิจการที่ทำการตรวจสอบ  หรือที่ขอจากบุคคลภายนอกกิจการ ทั้งนี้ เพื่อใช้ในการจัดทำรายงานการตรวจสอบและรับรองบัญชี

การจัดทำกระดาษทำการ

กระดาษทำการไม่มีขอบเขต รูปแบบ และเนื้อหาที่แน่นอนขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์และเนื้อหาในเรื่องที่ตรวจสอบ   ดังนั้น จึงเป็นเรื่องของการใช้ดุลยพินิจเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพของผู้สอบบัญชีภาษีอากรเอง  แต่อย่างไรก็ตาม ขอบเขต รูปแบบ และเนื้อหาของกระดาษทำการควรมีลักษณะดังต่อไปนี้

1. ขอบเขตของกระดาษทำการ

การกำหนดขอบเขตของกระดาษทำการ ผู้สอบบัญชีภาษีอากรจะต้องพิจารณาถึงธุรกิจที่ตรวจสอบและมาตรฐานการปฏิบัติงานที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด โดยจะต้องรวบรวมสิ่งที่มีความจำเป็นและเหมาะสมในการตรวจสอบบันทึกไว้ในกระดาษทำการ

2. รูปแบบและเนื้อหาของกระดาษทำการ

รูปแบบและเนื้อหาของกระดาษทำการ ผู้สอบบัญชีภาษีอากรจะต้องออกแบบ และจัดทำกระดาษทำการให้เหมาะสมกับสถานการณ์และความต้องการของตนในการตรวจสอบเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการตรวจสอบและรับรองบัญชีของแต่ละกิจการ  ซึ่งผู้สอบบัญชีภาษีอากรอาจใช้กระดาษทำการที่แต่ละสำนักงานจัดทำไว้เป็นรูปแบบมาตรฐานก็ได้

ความแตกต่างของรูปแบบ และเนื้อหาของกระดาษทำการที่ผู้สอบบัญชีภาษีอากร ต้องจัดทำนั้น ขึ้นอยู่กับ ลักษณะและความซับซ้อนของธุรกิจ ลักษณะและสภาพของระบบบัญชีและระบบการควบคุมภายในของกิจการ การใช้กระดาษทำการเพื่อประโยชน์ในการสั่งการ การควบคุมดูแล และ การสอบทานงานที่ปฏิบัติโดยผู้ช่วยผู้สอบบัญชีภาษีอากร

3. สาระสำคัญที่ควรปรากฏในกระดาษทำการ

3.1 กระดาษทำการควรแสดงให้เห็นว่าผู้สอบบัญชีภาษีอากรได้จัดทำแนวทางการสอบบัญชีอย่างระมัดระวังและรอบคอบ  และได้ควบคุมการปฏิบัติงานของผู้ช่วยผู้สอบบัญชีภาษีอากร (ถ้ามี) โดยใกล้ชิด

3.2 กระดาษทำการต้องแสดงให้เห็นว่า ข้อมูลและตัวเลขในงบการเงินที่ผู้สอบบัญชีภาษีอากรรับรองถูกต้องตรงตามบันทึกและหลักฐานทางการบัญชีของกิจการที่ตรวจสอบ

3.3 กระดาษทำการต้องแสดงให้เห็นว่าผู้สอบบัญชีภาษีอากรและผู้ช่วยผู้สอบบัญชีภาษีอากร ได้ปฏิบัติงานตรวจสอบตามแนวทางการสอบบัญชีที่ได้กำหนดขึ้นโดยถูกต้องและครบถ้วน

3.4 กระดาษทำการต้องแสดงข้อมูลที่ได้จากการปฏิบัติงานตรวจสอบและรับรองบัญชี  โดยจะต้องแสดงถึงการทดสอบความถูกต้องของรายการบัญชี  การตรวจสอบความถูกต้องในส่วนที่เป็นสาระสำคัญทางด้านภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร  การปรับปรุงกำไรสุทธิ/ขาดทุนสุทธิทางบัญชีเป็นกำไรสุทธิ/ขาดทุนสุทธิทางภาษี  และการตรวจสอบรายการในแบบแจ้งข้อความตามแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล (ภ.ง.ด.50)   รวมถึงการแจ้งปริมาณและขอบเขตการตรวจสอบแต่ละด้านในกรณีที่ผู้สอบบัญชีภาษีอากรมิได้กำหนดไว้ในแนวทางการสอบบัญชี

3.5 กระดาษทำการต้องแสดงผลการตรวจสอบในแต่ละเรื่อง  รวมถึงข้อบกพร่องหรือสิ่งผิดปกติอันมีสาระสำคัญที่ผู้สอบบัญชีภาษีอากรได้ตรวจพบ การวินิจฉัยและข้อสรุปเกี่ยวกับข้อบกพร่องหรือสิ่งผิดปกติที่ตรวจพบ คำชี้แจงของผู้บริหารของกิจการในเรื่องดังกล่าว และข้อเสนอแนะที่ผู้สอบบัญชีภาษีอากรได้ให้แก่กิจการ  ตลอดจนการแก้ไขข้อบกพร่องหรือสิ่งปกตินั้นว่าได้ดำเนินการแล้วหรือไม่อย่างไร

4. การใช้เครื่องหมายการตรวจสอบ

เครื่องหมายการตรวจสอบ หมายถึง สัญลักษณ์ที่ผู้สอบบัญชีภาษีอากรกำหนดขึ้นเอง โดยเครื่องหมายดังกล่าวจะมีรูปร่างและความหมายที่ต่างกัน ซึ่งรูปแบบของสัญญลักษณ์จะไม่มีรูปแบบที่แน่นอน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับผู้สอบบัญชีภาษีอากรจะกำหนด

การใช้ครื่องหมายการตรวจสอบ มีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงให้เห็นว่าผู้สอบบัญชีภาษีอากรได้ตรวจสอบข้อมูลในกระดาษทำการด้วยวิธีการตรวจสอบใด ดังนั้น ผู้สอบบัญชีภาษีอากรต้องใส่เครื่องหมายการตรวจสอบกำกับรายการที่ทำการตรวจสอบและอธิบายความหมายของเครื่องหมายการตรวจสอบนั้นไว้ในกระดาษทำการด้วย และเพื่อสะดวกในการสอบทานการตรวจสอบ เครื่องหมายการตรวจสอบจึงควรแสดงให้เห็นอย่างเด่นชัดด้วยการใช้ดินสอสีต่าง ๆ ทำเครื่องหมาย

5. ข้อปฏิบัติในการจัดทำกระดาษทำการ

5.1 จัดทำสารบาญกระดาษทำการที่แสดงถึงเรื่องต่าง ๆ ที่อยู่ในกระดาษทำการ เพื่อให้เห็นโครงสร้างของกระดาษทำการทั้งหมด

5.2 กำหนดรหัสอ้างอิงของกระดาษทำการ เพื่อใช้ในการอ้างอิงระหว่างกระดาษทำการที่เกี่ยวข้องกัน

5.3 ในกรณีที่ผู้สอบบัญชีภาษีอากรได้หลักฐานจากการสอบถามจากบุคลากรของกิจการ  ผู้สอบบัญชีภาษีอากรต้องระบุชื่อของบุคลากรพร้อมตำแหน่งงาน เพื่อประโยชน์ในการอ้างอิงในภายหลัง

5.4 กระดาษทำการเป็นหลักฐานที่แสดงถึงการปฏิบัติงานตรวจสอบและรับรองบัญชี หลักฐานที่ได้รับจากการปฏิบัติงานตรวจสอบและรับรองบัญชี และสิ่งที่ตรวจพบจากการตรวจสอบของผู้สอบบัญชีภาษีอากร ดังนั้น ผู้สอบบัญชีภาษีอากรต้องเก็บรักษากระดาษทำการให้ปลอดภัยจากการถูกแก้ไข สูญหาย หรือการนำข้อมูลที่อาจเป็นความลับของกิจการไปเปิดเผยต่อบุคคลอื่น

กรรมสิทธิ์ของกระดาษทำการ

กระดาษทำการถือเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้สอบบัญชีภาษีอากร ซึ่งผู้สอบบัญชีภาษีอากรจะต้องนำมาส่งมอบให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ตรวจสอบการปฏิบัติงานของกรมสรรพากร เพื่อชี้แจงเกี่ยวกับการปฏิบัติงานตรวจสอบและรับรองบัญชีของตน


ที่มา : กรมสรรพากร

 2032
ผู้เข้าชม

บทความที่เกี่ยวข้อง

การทำบัญชีถือเป็นหัวใจหลักของการทำธุรกิจ เพราะบัญชีจะทำให้คุณทราบที่มาที่ไปของเงินในแต่ละส่วน มองเห็นผลกำไร ขาดทุนได้อย่างชัดเจนและที่สำคัญการทำบัญชียังช่วยลดการเกิดทุจริตภายในกิจการ สามารถทำการตรวจสอบย้อนข้อมูลทางการเงินหลังได้บริษัทส่วนใหญ่จึงทำการจ้างนักบัญชีเข้ามาทำงานในส่วนนี้ เพื่อความถูกต้อง
การวิเคราะห์งบกระแสเงินสด เป็นหนึ่งในเครื่องมือในการวิเคราะห์งบการเงินที่น่าสนใจอีกวิธีหนึ่ง นอกเหนือจากการวิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงิน หรือว่าการวิเคราะห์งบโดยวิธีแนวนอน วิธีแนวโน้ม  วิธีแนวตั้ง หรือวิเคราะห์ร้อยละของยอดรวม หลายๆ คนคงคุ้นเคยกับการวิเคราะห์งบกำไรขาดทุน และงบแสดงฐานะทางการเงินมาบ้างแล้ว แต่รู้หรือไม่ว่า หนึ่งในวิธีวิเคราะห์งบการเงินที่มีประโยชน์มากอีกวิธีหนึ่งก็คือ การวิเคราะห์กระแสเงินสด
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับภาษีหัก ณ ที่จ่าย ทั้งจากผู้ประกอบการ และนักบัญชีเองนั้นมีมากมายหลากหลายคำถาม ในบทความนี้ เราได้สำรวจและรวบรวม 5 คำถามยอดฮิต พร้อมคำตอบมาให้เพื่อนๆ กันค่ะ คำถามยอดฮิตเกี่ยวกับภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายที่ว่านั้น จะมีเรื่องอะไรบ้างลองไปดูกันค่ะ
แม้ ภ.ง.ด.1 และ ภ.ง.ด.1ก จะมีหน้าที่บอกกรมสรรพากรว่าบริษัทมีพนักงานกี่คนแต่ละคนได้เงินเดือนเท่าไหร่และเสียภาษีหัก ณ ที่จ่ายไปเท่าไหร่แต่ก็มีความแตกต่างในการกรอกรายละเอียดและช่วงเวลาในการนำส่ง กล่าวคือ
รายการที่นิติบุคคลสามารถนำมาลดหย่อนภาษีจุดมุ่งหมายเช่นเดียวกับ การลดหย่อนภาษีสำหรับบุคคลธรรมดา ทั้งนี้เพื่อให้การชำระภาษีในปีนั้น ๆ มีจำนวนน้อยลง เพราะมีการหักค่าใช้จ่ายในแต่ละปีภาษีมากขึ้น ต่างกันเพียงแค่รายการที่นิติบุคคลสามารถนำมาลดหย่อนแตกต่างจากบุคคลธรรมดาเท่านั้น โดยรายการที่นิติบุคคลสามารถนำมาลดหย่อนได้ มีดังนี้
ในปัจจุบันการนำเข้า-ส่งออกสินค้าระหว่างประเทศ ถือเป็นธุรกิจที่มีความสำคัญอย่างมาก เพราะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยเสริมสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจ สร้างงาน เพิ่มการจ้างงาน และส่งเสริมการแข่งขันและนวัตกรรม นอกจากนี้ยังมีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและการบริหารจัดการเงินตราต่างประเทศ รวมไปถึงช่วยให้สร้างโอกาสขยายตลาด และเพิ่มรายได้แบบก้าวกระโดด ดังนั้น การดำเนินธุรกิจนำเข้า-ส่งออกที่มีประสิทธิภาพจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว

สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์