4 ขั้นตอนในการวิเคราะห์กระแสเงินสด

4 ขั้นตอนในการวิเคราะห์กระแสเงินสด



การวิเคราะห์งบกระแสเงินสด เป็นหนึ่งในเครื่องมือในการวิเคราะห์งบการเงินที่น่าสนใจอีกวิธีหนึ่ง นอกเหนือจากการวิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงิน หรือว่าการวิเคราะห์งบโดยวิธีแนวนอน วิธีแนวโน้ม  วิธีแนวตั้ง หรือวิเคราะห์ร้อยละของยอดรวม หลายๆ คนคงคุ้นเคยกับการวิเคราะห์งบกำไรขาดทุน และงบแสดงฐานะทางการเงินมาบ้างแล้ว แต่รู้หรือไม่ว่า หนึ่งในวิธีวิเคราะห์งบการเงินที่มีประโยชน์มากอีกวิธีหนึ่งก็คือ การวิเคราะห์กระแสเงินสด การวิเคราะห์กระแสเงินสดนั้น เราจะ Focus ไปที่เงินสดของกิจการเท่านั้น ซึ่งจะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวอย่างชัดเจนไม่เหมือนกับการวิเคราะห์แบบอื่นๆ ค่ะ

การวิเคราะห์กระแสเงินสด (Cash Flow Analysis) เป็นการวิเคราะห์แหล่งที่มา และแหล่งที่ไปของเงินสด  โดย

แหล่งที่มา คือ การได้รับเงินเข้ามาในบริษัท    
ส่วนแหล่งที่ไป ก็คือ การจ่ายเงินสดออกไป

ซึ่งจะดูทั้งเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด ว่ามีการรับมาและจ่ายไปในระหว่างงวดบัญชี ที่ต้องการวิเคราะห์อย่างไร เงินสด ของกิจการที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงนั้นได้มาจากแหล่งใด และมีการใช้เงินไปในเรื่องใด เพื่อทำความเข้าใจให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นเกี่ยวกับการไหลเวียนของเงินสดในกิจการ

ขั้นตอนในการวิเคราะห์งบกระแสเงินสด แบ่งเป็น 4 ขั้นตอนหลักๆ ได้แก่

1. วิเคราะห์แหล่งที่มาและการใช้ไปของเงินสดจากกิจกรรมทั้ง 3
ขั้นแรกนี้เป็นการวิเคราะห์ภาพรวมว่า ใน 3 กิจกรรม ได้แก่ กิจกรรมดำเนินงาน, กิจกรรมการลงทุน, และกิจกรรมจัดหาเงิน เราได้เงินสดมา และใช้เงินสดไปกับกิจกรรมใดเป็นหลัก

ที่สำคัญเราต้องดูว่า กระแสเงินสดจากกิจกรรมดำเนินงาน มีค่าเป็นบวก และเพียงพอสำหรับการใช้จ่ายในกิจการหรือไม่ หากเงินสดจากกิจกรรมดำเนินงานติดลบหรืออาจจะมีน้อยไป ซึ่งถ้าเทียบกับกิจกรรมการลงทุนและกิจกรรมจัดหาเงินอาจจะไม่เพียงพอในการดำเนินธุรกิจ ถ้าเป็นเช่นนี้ ผู้บริหารจะต้องเปลี่ยนกลยุทธ์ในการบริหารหรือไม่ หรือต้องทำอย่างไรเพื่อที่จะบริหารกระแสเงินสดที่มีให้สามารถดำเนินธุรกิจไปได้อย่างต่อเนื่อง

2. วิเคราะห์กระแสเงินสดจากกิจกรรมดำเนินงาน (CFO)
กระแสเงินสดจากกิจกรรมดำเนินงาน ส่วนใหญ่มักจะมีที่มาที่ไปจากธุรกิจหลัก คือ การขายสินค้า ซื้อวัตถุดิบ จ่ายค่าแรงพนักงาน เป็นต้น ใครๆ ก็อยากมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานเป็นบวกใช่ไหมคะ

การวิเคราะห์กระแสเงินสดในกิจกรรมนี้ ต้องดูว่าเงินสดที่ได้มามีองค์ประกอบสำคัญมาจากรายการใด กระแสเงินสดจากกิจกรรมดำเนินงานมีค่ามากกว่าหรือน้อยกว่ากำไรสุทธิในงบกำไรขาดทุน และมีสาเหตุมาจากอะไร เช่น หากกำไรเยอะๆ ในงบกำไรขาดทุน แต่กระแสเงินสดจากการดำเนินงานน้อยมาก แสดงว่าเราอาจจะยังบริหารเงินสดได้ไม่ดีพอค่ะ

3. วิเคราะห์กระแสเงินสดจากกิจกรรมลงทุน (CFI) 
กระแสเงินสดจากกิจกรรมการลงทุน ส่วนใหญ่มักจะเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงไปของส่วนของสินทรัพย์ไม่หมุนเวียน เช่น ซื้อที่ดินเพิ่ม สร้างโรงงานเพิ่ม นี่ก็เป็นสาเหตุทำให้กระแสเงินสดจากกิจกรรมลงทุนติดลบ

การติดลบของกระแสเงินสดจากกิจกรรมลงทุนนั้นไม่ได้เลวร้ายเสมอไป หากเรามีแผนงานรองรับในอนาคต เช่น การขยายโรงงานเพิ่มต้องลงทุนเยอะๆ ในปีนี้ และคาดการณ์ว่าจะสร้างรายได้จากกิจกรรมดำเนินงานในอนาคต 2 เท่า การวิเคราะห์กระแสเงินสดในกิจกรรมการลงทุน ต้องรู้ว่ากระแสเงินสดสุทธิที่เป็นบวกหรือลบ มีองค์ประกอบสำคัญมาจากรายการใด และคาดหวังว่าในอนาคตจะได้ผลตอบแทนอย่างไร

4. วิเคราะห์กระแสเงินสดจากกิจกรรมจัดหาเงิน (CFF)
การจัดหาเงินอาจมาจากการกู้เงิน หรือการเพิ่มทุนในส่วนของผู้ถือหุ้น โดยหากกู้เงินจากสถาบันการเงินหรือบุคคลที่สามคือจะต้องมีดอกเบี้ยจ่ายเกิดขึ้น และสำหรับการเพิ่มทุน จะไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ย แต่อย่างไรก็ตามผู้ถือหุ้นคาดหวังที่จะได้รับเงินปันผล ดังนั้นกิจการต้องแพลนว่าการจัดหาเงินด้วยวิธีใด คุ้มค่า และเหมาะสำหรับกิจการ

การวิเคราะห์กระแสเงินสดกระแสเงินสดจากกิจกรรมจัดหาเงิน ให้ดูว่ามีองค์ประกอบสำคัญมาจากรายการใด หากกิจการมีการจัดหาเงินได้มาก กิจการมีแผนที่จะจัดการกับต้นทุนทางการเงินที่เกิดขึ้นอย่างไร และกิจการคาดว่าจะสร้างรายได้จากการประกอบการในอนาคตจากเงินที่จัดหามาอย่างไร สุดท้ายมีกำไรเพื่อไปจ่ายดอกเบี้ย หรือเงินปันผลในอนาคตอย่างไรบ้างนั่นเองค่ะ

การวิเคราะห์งบกระแสเงินสด คือการที่กิจการมีเงินสดที่ได้รับมา และได้จ่ายไปจากกิจกรรมใดเป็นหลักและมีความสามารถที่จะดำเนินต่อไปได้ในอนาคตหรือไม่
งบกระแสเงินสดเป็นสิ่งที่ผู้บริหารให้ความสนใจ โดยเฉพาะบัญชีเงินสดที่ปรากฏอยู่ในงบการเงิน จัดเป็นรายการหนึ่งที่แสดงถึงสภาพคล่องของกิจการว่าเป็นอย่างไร มีความคล่องตัวในการดำเนินงานเพียงใด เพื่อใช้เป็นแนวทางในการตัดสินใจดำเนินงานต่าง ๆ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเงินสดเป็นสำคัญ ดังนั้น นักบัญชีควรให้ความสนใจกับการวิเคราะห์กระแสเงินสดกันค่ะ เพราะในโลกความเป็นจริงแล้วเราอาจจะเจอหลายๆ บริษัทที่กำไรเบ่งบาน แต่เงินสดไม่พอใช้ สภาพคล่องทางการเงินไม่ค่อยดีนักอยู่เต็มไปหมดเลยค่ะ


ที่มา : thaicpdathome.com
 13489
ผู้เข้าชม

บทความที่เกี่ยวข้อง

เพื่อน ๆ ทราบไหมครับว่า ทำไมยอดเงินเดือนจริง ๆ ที่โอนเข้าบัญชีจากทางบริษัท ถึงน้อยกว่าเงินเดือนที่ระบุไว้ตอนทำสัญญาว่าจ้าง หรือทำไมตอนรับงานนอก ผู้ว่าจ้างโอนเงินให้เราน้อยกว่าค่าจ้างที่ตกลงกันไว้นิด ๆ หน่อย ๆ ทั้งนี้ อย่าเพิ่งตกใจไปครับ เพราะโดยปกติ เงินส่วนที่ถูกหักไปนั้น คือ เงินภาษีหัก ณ ที่จ่าย นั่นเอง วันนี้ เรามาดูกันครับว่า ภาษีหัก ณ ที่จ่าย คืออะไร แล้วเกี่ยวข้องกับการยื่นภาษีที่สรรพากรในแต่ละปีอย่างไร
ใบเสนอราคา หรือ quotation คือเอกสารสำคัญสำหรับนักขาย และเจ้าเอกสารตัวนี้เองก็น่าจะเป็นอะไรที่นักขายทุกคนรู้จักกันดีอยู่แล้ว เรียกได้ว่าเป็นใบเบิกทางไปสู่การปิดดีลการขายเลยก็คงไม่เกินจริงไปนัก อย่างไรก็ตามนักขายจำนวนมากแม้จะรู้ว่าเจ้าใบเสนอราคานั้นหน้าตาเป็นอย่างไร แต่เมื่อต้องทำเองหลายต่อหลายครั้งหากบริษัทไม่ได้กำหนดมาตรฐานเอาไว้ นักขายเองก็มักจะออกใบเสนอราคาโดยไม่มี standard ที่ตายตัว นอกจากนี้ตัวนักขายเองก็อาจจะไม่ได้ใส่ใจกับเจ้าใบนี้เท่าที่ควรด้วย
มีผู้ประกอบการหลายท่านที่ทำเอกสารต่างๆเอง ยื่นภาษีเอง มีความรู้ทางด้านภาษีเป็นอย่างดี และไม่อยากเสียเงินจ้างนักบัญชี และก็มีคำถามมาตลอดว่าสามารถทำบัญชีเองได้รึป่าว วันนี้แอดเลยสรุปให้ง่ายๆฉบับนักบัญชียุคใหม่
หลายคนอาจมีคำถามว่า บุคคลธรรมดาผู้มีเงินได้ก็ยื่นภาษีทุกปีอยู่แล้วทำไมต้องยื่นเสียภาษีครึ่งปีอีก? ซึ่งก็มีแค่บุคคลที่มีเงินได้บางประเภทเท่านั้นที่เข้าข่ายต้องเสียภาษีครึ่งปี โดยการเสียภาษีครึ่งปีนี้ถือเป็นการบรรเทาภาระภาษี เพราะหากไม่มีการยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด. 94 หรือ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี จะต้องยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและชำระภาษีเป็นเงินจำนวนมาก โดยภาษีเงินได้ครึ่งปีที่จ่ายไป สามารถนำไปใช้หักออกจากภาษีประจำปีที่คำนวณได้ ตัวอย่างเช่น นายเอได้ยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปีไปแล้วจำนวน 6,000 บาท พอสิ้นปีนายเอคำนวณภาษีที่ต้องจ่ายเป็นจำนวน 9,000 บาท นายเอก็จ่ายภาษีเพิ่มแค่ 3,000 บาทเท่านั้น  (9,000-6,000 บาท)
ค่าแรงงาน หมายถึง ค่าจ้าง (Wages) และเงินเดือน (Salaries) ที่กิจการจ่ายให้แก่ลูกจ้าง ในการจ่ายค่าจ้างอาจจ่ายเป็นรายชั่วโมง (Hourly) รายวัน (Daily) หรือตามหน่วยที่ผลิตได้ (Piecework) ส่วนเงินเดือนมักจะจ่ายเดือนละครั้ง
มีค่าใช้จ่ายตัวไหนบ้างที่มีสิทธิหักภาษีได้เพิ่มในแบบ ภ.ง.ด.50 สำหรับยื่นภาษีเงินได้นิติบุคคล เพื่อให้ผู้ประกอบการเสียภาษีประจำปีน้อยลงบ้าง ลองไปสำรวจกันสักนิดในบทความนี้ค่ะ

สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์