อากรแสตมป์

อากรแสตมป์


อากรแสตมป์เป็นภาษีตามประมวลรัษฎากรประเภทหนึ่ง จัดเก็บจากการกระทำ ตราสาร 28 ลักษณะ ตามที่กำหนดไว้ในบัญชีอัตราอากรแสตมป์

ตราสารที่ต้องเสียอากรแสตมป์
คำว่า “ตราสาร” ตามประมวลรัษฎากรหมายถึง เอกสารที่ต้องเสียอากรแสตมป์ ตามที่กำหนดไว้ในบัญชีอัตรา อากรแสตมป์ ซึ่งปัจุจบันมีทั้งหมด 28 ลักษณะตราสาร เช่น ตราสารเช่าที่กับโรงเรือน เช่าซื้อทรัพย์สิน จ้างทำของ กู้ยืมเงิน ฯลฯ อากรแสตมป์เป็นภาษีอากรที่จัดเก็บจากการกระทำตราสาร โดยคำว่า กระทำ หมายความว่า การลงลาย มือชื่อตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

ผู้มีหน้าที่เสียอากรแสตมป์ มีดังนี้
  1. บุคคลตามที่ระบุไว้ในช่องที่ 3 ของบัญชีอัตราอากรแสตมป์ เช่น ผู้ให้เช่าผู้โอน ผู้ให้กู้ ผู้รับประกันภัย ฯลฯ
  2. ถ้าตราสารทำขึ้นนอกประเทศ ให้เป็นหน้าที่ของผู้ทรงตราสารคนแรกในประเทศเป็น ผู้เสียอากรภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับตราสารนั้น

    ถ้าหากไม่ได้ปฏิบัติตามความข้างต้น ผู้ทรงคนใดคนหนึ่งต้องเสียอากรแล้วจึงยื่นตราสารเพื่อให้จ่ายเงิน รับรอง สลักหลัง โอนหรือถือเอาประโยชน์ได้

    ผู้ทรงตราสารคนใด ได้ตราสารตามความข้างต้นไว้ในครอบครองก่อนพ้นกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับตราสารนั้น จะเป็นผู้เสียอากรก็ได้โดยมีสิทธิไล่เบี้ยจากผู้ทรงคนก่อนๆ
     
  3. ตั๋วเงินที่ยื่นให้ชำระเงิน มิได้ปิดแสตมป์บริบูรณ์ ผู้รับตั๋วจะเสียอากรและใช้สิทธิไล่เบี้ยจาก ผู้มีหน้าที่เสียอากร หรือหักค่าอากรจากเงินที่จะชำระก็ได้
     
  4. ผู้มีหน้าที่เสียอากร ตามที่ระบุไว้ในบัญชีอัตราอากรแสตมป์ อาจตกลงให้คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง เป็นผู้เสียอากรแทนตนก็ได้ เว้นแต่กรณีตาม 2.
วิธีการเสียอากร
วิธีการเสียอากรแสตมป์สำหรับการทำตราสาร เรียกว่า “ปิดแสตมป์บริบูรณ์” ซึ่งหมายความว่า

1.  ในกรณีแสตมป์ปิดทับ คือการได้เสียอากรโดยปิดแสตมป์ทับกระดาษก่อนกระทำหรือใน ทันทีที่ทำตราสารเป็นราคาไม่น้อยกว่าอากรที่ต้องเสียและได้ขีดฆ่าแสตมป์นั้นแล้ว หรือ

2.   ในกรณีแสตมป์ดุน คือการได้เสียอากรโดยใช้กระดาษมีแสตมป์ดุนเป็นราคาไม่น้อยกว่า อากรที่ต้องเสีย และขีดฆ่าแล้ว หรือโดยยื่นตราสารให้พนักงานเจ้าหน้าที่ประทับแสตมป์ดุน และชำระเงินเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าอากรที่ต้องเสียและขีดฆ่าแล้ว หรือ

3.   ในกรณีชำระเป็นตัวเงิน คือการได้เสียอากรเป็นตัวเงิน เป็นราคาไม่น้อยกว่าอากรที่ต้องเสียตาม บทบัญญัติในหมวดอากรแสตมป์ หรือตามระเบียบที่อธิบดีจะได้กำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี

การขอเสียอากรเป็นตัวเงิน
การขอเสียอากรเป็นตัวเงิน ก็เพื่อความสะดวกในการเสียอากร ที่มีค่าอากรแสตมป์เป็นจำนวนมาก ไม่สะดวกในการใช้ดวงแสตมป์อากรปิดบนตราสารหรือในกรณีไม่สะดวกในการชำระค่าอากร โดยใช้แสตมป์ดุน การขอเสียอากรเป็นตัวเงิน ปฏิบัติดังนี้

(1)   การขอเสียอากรเป็นตัวเงิน ใช้แบบ อ.ส.4 (แบบขอและอนุมัติให้เสียอากรแสตมป์เป็นตัวเงิน)ยื่นต่อพนักงาน เจ้าหน้าที่อากรแสตมป์ โดยแนบตราสารที่ขอเสียอากรไปด้วย ให้ยื่นต่อสำนักงานสรรพากรอำเภอ

(2)   สำหรับตราสารที่เป็น

        (2.1)   ตั๋วแลกเงินหรือตราสารทำนองเดียวกันที่ใช้อย่างตั๋วแลกเงินเฉพาะที่ธนาคารประกอบกิจการ ในราชอาณาจักรเป็นผู้สั่งจ่าย ตามลักษณะแห่งตราสาร 9(1) และใบรับฝากเงินประเภท ประจำของธนาคารโดยมี ดอกเบี้ย ตามลักษณะแห่งตราสาร 13

        (2.2)   เช็คที่ออกในราชอาณาจักร ตามลักษณะแห่งตราสาร 12

        (2.3)   เช็คสำหรับผู้เดินทางที่ออกหรือจำหน่ายในราชอาณาจักร ตามลักษณะแห่งตราสาร 15 มีวิธีการเสียอากรเป็นตัวเงินดังนี้

                     -   ตราสารตามข้อ (2.1) ให้ธนาคารผู้สั่งจ่ายหรือผู้รับฝาก แล้วแต่กรณีชำระอากรเป็นตัวเงิน แทนการปิดแสตมป์

                     -   ตราสารตามข้อ (2.2) และ (2.3) ให้ผู้สั่งจ่ายหรือผู้ทรงคนแรกชำระอากรเป็นตัวเงินแทน การปิดแสตมป์ โดยชำระไว้ต่อธนาคาร

                     -   ตราสารตามข้อ (2.3) ที่ธนาคารเป็นผู้ออก ให้ธนาคารชำระอากรเป็นตัวเงินแทน การปิดแสตมป์

                     -   ธนาคารผู้ชำระเงินหรือรับชำระเงินค่าอากร ที่มีสำนักงานตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร นำเงินค่าอากรที่มีหน้าที่ต้องชำระ หรือได้รับชำระไว้ใปยื่นขอชำระต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ อากรแสตมป์ ณ สำนักงานสรรพากรอำเภอ โดยใช้แบบ อ.ส.4ก (แบบขอเสียอากรแสตมป์เป็นตัวเงินสำหรับตราสารเช็คหรือตั๋วแลกเงิน) พร้อมชำระเงิน ส่วนธนาคารที่มีสำนักงานตั้งอยู่ในท้องที่นอกเขตกรุงเทพมหานคร ให้ยื่นชำระเงิน ณ สำนักงานสรรพากรอำเภอ หรือกิ่งอำเภอท้องที่

(3)   ใบรับสำหรับการโอนหรือก่อตั้งสิทธิใดๆ เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ในเมื่อนิติกรรมที่เป็นเหตุให้ ออกใบรับนั้นมีการจดทะเบียนตามกฎหมาย ตามลักษณะแห่งตราสาร 28(ข) ให้ชำระค่าอากรแสตมป์เป็นตัวเงิน ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม (กรมที่ดิน)

(4)   ใบรับเงินรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาล กำหนดให้ชำระอากรเป็นตัวเงินต่อสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล

การขีดฆ่าอากร
คำว่า “ขีดฆ่า” หมายความว่า การกระทำเพื่อมิให้ใช้แสตมป์ได้อีก โดยในกรณีแสตมป์ปิดทับ ได้ลงลายมือชื่อหรือลงชื่อห้างร้านบนแสตมป์ หรือขีดเส้นคร่อมฆ่าแสตมป์ที่ปิดทับกระดาษ และลงวัน เดือน ปี ที่กระทำสิ่งเหล่านี้ด้วย ในกรณีแสตมป์ดุนได้เขียนบนตราสารหรือยื่นตราสารให้พนักงานเจ้าหน้าที่ประทับ แสตมป์ดุน ให้แสตมป์ปรากฏอยู่ในด้านหน้าของตราสารนั้น


ที่มา : LINK
 2654
ผู้เข้าชม

บทความที่เกี่ยวข้อง

ในการทำบัญชีนั้น ผู้ทำบัญชีต้องจัดทำตามมาตรฐานรายงานทางการเงิน แต่สำหรับการยื่นภาษีในทุกๆปี ต้องแสดงรายได้และค่าใช้จ่ายโดยใช้หลักเกณฑ์ประมวลรัษฎากร และเป็นที่แน่นอนว่า การใช้หลักเกณฑ์ที่แตกต่างกัน ย่อมทำให้มีผลต่างเกิดขึ้นระหว่างบัญชีและภาษี 
ถ้ามีภาษีที่ต้องชำระจำนวนตั้งแต่ 3,000 บาทขึ้นไป ทั้งภาษีครึ่งปีและภาษีสิ้นปี ผู้เสียภาษีมีสิทธิ ขอผ่อนชำระภาษีได้เป็น 3 งวดเท่า ๆ กัน โดยไม่ต้องเสียเงินเพิ่มใดๆ ผู้เสียภาษีอาจติดต่อขอผ่อนชำระได้ที่ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาโดยใช้แบบบ.ช. 35 จำนวน 1 ชุด 3 แผ่น ข้อความเหมือนกันดังนี้
วันนี้เราจะมาดูกันว่าเจ้าของจะสามารถนำเงินออกจากบริษัทได้โดยทางใดบ้าง และแต่ละทางมีข้อดี-ข้อเสียทางภาษีที่แตกต่างกันอย่างไร
เอกสารประกอบการบันทึกค่าใช้จ่ายแบบไหนที่ไม่สามารถใช้ได้
เรื่องของบัญชีและภาษีได้อยู่ควบคู่กับธุรกิจมาอย่างยาวนาน ผู้ที่ทำธุรกิจควรมีความรู้และความเข้าใจในบัญชีและภาษีในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะการทำบัญชีเบื้องต้นและการยื่นภาษีอากร แม้ว่าคุณจะไม่ได้ทำหน้าที่เหล่านั้นด้วยตัวคุณเอง แต่ในฐานะที่คุณทำธุรกิจมันจำเป็นอย่างยิ่งที่คุณจะต้องเข้าใจในระดับหนึ่ง
หากเราเลือกวิธีการประหยัดภาษีต่างๆ ที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย อาจทำให้เกิดอันตรายต่อฐานะการเงินของเราได้ กรมสรรพากรจะตรวจสอบว่า วิธีการที่เราใช้นั้นมันผิดกฎหมายจนทำให้ชำระภาษีขาดไป อาจจะเป็นเรื่องใหญ่แน่

สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์