นักบัญชีช่วยวิเคราะห์สินค้าได้อย่างไรบ้าง?

นักบัญชีช่วยวิเคราะห์สินค้าได้อย่างไรบ้าง?


สินค้าขายได้ดีไหม เราถือสินค้าไว้นานเท่าไรกว่าจะขายได้ นักบัญชีจะช่วยเจ้าของธุรกิจวิเคราะห์สินค้าคงเหลือได้อย่างไรบ้าง

เรื่องของการหมุนเวียนสินค้าคงเหลือ หมายถึง ความอยู่รอดและความเป็นความตายสำหรับหลายๆ ธุรกิจ เช่น ธุรกิจซื้อมาขายไป และธุรกิจผลิต ที่จะต้องสต๊อกสินค้าไว้ล่วงหน้าก่อนจะขายต่อให้กับลูกค้า

เพื่อลดปัญหาอันน่าปวดหัวจากสินค้าคงเหลือ วันนี้เราพาทุกคนมาทำความเข้าใจอัตราส่วนทางการเงินกับสินค้าคงเหลือกัน เริ่มต้นจากรู้จักแหล่งที่มาของข้อมูลก่อน การวิเคราะห์อัตราส่วนสินค้าคงเหลือนั้น จะมีข้อมูลจาก 2 แหล่ง

1.สินค้าคงเหลือ ในงบแสดงฐานะการเงิน
2.ต้นทุนขาย ในงบกำไรขาดทุน

แน่นอนว่าสินค้าคงเหลือเป็นตัวสินทรัพย์ที่เชื่อมโยงกับต้นทุนขาย เวลาเราซื้อสินค้ามาหรือผลิตสินค้าเสร็จแล้ว ก็บันทึกเป็นสินค้าคงเหลือ พอเราขายเราก็ตัดออกมาเป็นต้นทุนขายตามจำนวนสินค้าที่ขายได้ ดังนั้น ยอดสินค้าคงเหลือก็ย่อมมีความเกี่ยวโยงกับต้นทุนขายอย่างแยกไม่ออกเลยทีเดียว ถัดมาเรามาทำความเข้าใจ 2 อัตราส่วนทางการเงินที่ช่วยวิเคราะห์สินค้าคงเหลือกัน

1. อัตราการหมุนของสินค้าคงเหลือ (Inventory turnover) 
อัตราส่วนการหมุนเวียนของสินค้าคงเหลือ หมายถึง จำนวนรอบ (Turnover) ที่สินค้าคงเหลือทำได้ภายใน 1 ปี นับตั้งแต่สินค้าคงเหลือเข้ามาในกิจการและถูกจำหน่ายออกไป ถ้ากิจการไหน มีรอบการหมุนเวียนสินค้าคงเหลือมากใน 1 ปี ยิ่งแปลว่า สินค้าหมุนเวียนได้ดี

สูตรที่ใช้คำนวณมีตามนี้       

อัตราการหมุนของสินค้าคงเหลือ (Inventory turnover)  =  ต้นทุนขาย / สินค้าคงเหลือเฉลี่ย
ตัวอย่างเช่น บริษัท AAA มีสินค้าคงเหลือเฉลี่ยปี 2563 และ 2564 = 27,000 บาท และมีต้นทุนขายเฉลี่ย = 363,000 บาท  

อัตราการหมุนของสินค้าคงเหลือ (Inventory turnover)  = 363,000 / 27,000  = 13.44 รอบ

อัตราหมุนเวียนของสินค้าจำนวน 13.44 รอบนั้น แปลว่า ใน 1 ปี บริษัท AAA ซื้อสินค้ามาแล้วขายออกไปได้ทั้งหมด 13.44 รอบ นั่นเอง

ถ้าสมมติปีก่อนมีรอบการหมุนเวียนจำนวน 10 รอบ แปลว่า ปี 2564 บริษัท AAA ทำผลงานได้ดีขึ้น

2. ระยะเวลาการถือครองของสินค้าคงเหลือ (Day in Inventory) 
ระยะเวลาในการถือครองสินค้าคงเหลือ หมายถึง จำนวนวันที่เราถือสินค้าไว้กับมือโดยเฉลี่ย ตั้งแต่เริ่มซื้อวัตถุดิบเข้ามาจนกระทั่งขายของออกไป ว่าเราถือสินค้าเหล่านี้ไว้จำนวนทั้งหมดกี่วัน

ถ้ากิจการไหน มีจำนวนการถือครองสินค้าคงเหลือน้อย ๆ แปลว่า ดี เพราะนั่นหมายความว่าสินค้าในสต๊อกหมุนเวียนขายออกไปได้เร็วนั่นเอง

สูตรที่ใช้คำนวณมีตามนี้

ระยะเวลาการถือครองของสินค้าคงเหลือ (Day in Inventory)   = 365 Day / อัตราการหมุนของสินค้าคงเหลือ

ตัวอย่างเช่น จากข้อมูลเดิมของ บริษัท AAA เราเอามาคำนวณจำนวนวันที่ถือครองสินค้าได้ตามนี้

ระยะเวลาการถือครองของสินค้าคงเหลือ (Day in Inventory)   = 365 / 13.44  = 27.16 วัน

ระยะเวลาการถือครองสินค้าคงเหลือ 27.16 วัน หมายถึง โดยเฉลี่ยบริษัท AAA ต้องถือสินค้าไว้จำนวน 27.16 วันกว่าที่จะขายสินค้าได้ ถ้าสมมติในอดีตถือสินค้าไว้ 36 วัน ปัจจุบันจำนวนวันน้อยลงแปลว่า บริษัท AAA บริหารสินค้าได้ดียิ่งขึ้น

สามารถอ่านบทความน่าสนใจอื่นๆได้ ที่นี่ คลิ๊ก!


Source (ต้นฉบับจาก): https://www.thaicpdathome.com/article/how-to-analyze-inventories
Copyright by ThaiCpdatHome.com
 607
ผู้เข้าชม

บทความที่เกี่ยวข้อง

แนวทางการบันทึกบัญชี ธุรกิจซื้อมาขายไป การขายสินค้าออนไลน์
มาดูกันนะคะว่า ในการประกอบธุรกิจ จะมีประเด็นความเสี่ยงและแนวทางการป้องกันอะไรบ้างที่เจ้าของธุรกิจควรระวัง เพื่อไม่ให้เกิดกับธุรกิจตัวเองค่ะ
แรงจูงใจหลักในการที่จะทำให้บริษัทหนึ่งจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลก็คงจะหนีไม่พ้นสิทธิที่บริษัทเสียภาษีบนฐานของผลกำไรของบริษัท กล่าวคือบริษัทสามารถหักรายจ่ายต่างๆออกจากรายได้ได้ตามจริง และเงินได้ของบริษัทที่จะเสียภาษีก็จะเป็นแค่ส่วนของผลกำไรของบริษัทเท่านั้น ไม่ใช่ต้องเสียจากรายได้หรือเหมารายจ่ายได้สูงสุดเพียง 60% เช่นที่ต้องเสียในระบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
“ที่ปรึกษาด้านบัญชีและภาษี” คือ ผู้ที่มีหน้าที่วางแผนและให้คำปรึกษาทางด้านบัญชีการเงินและกฎหมายภาษีให้กับองค์กร ทั้งกฎหมายภาษีตามประมวลรัษฎากรและการยื่นภาษีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับบริษัท เพื่อลดความเสี่ยงทางภาษีในการถูกประเมินเบี้ยปรับและเงินเพิ่มหรือเพื่อการประหยัดภาษีของธุรกิจ
ความเสี่ยงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับทุกองค์กรธุรกิจ เป็นโอกาสที่จะเกิดความผิดพลาด ความเสียหาย การรั่วไหล ความสูญเปล่าหรือเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ ซึ่งอาจเกิดขึ้นในอนาคต และมีผลกระทบ ที่จะทำให้การดำเนินงานไม่ประสบความสำเร็จหรือบรรลุตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายขององค์กร ที่กำหนดไว้ งานบัญชีเป็นงานที่มีความสำคัญมากของทุกองค์กร มีความเกี่ยวข้องกับข้อมูลบัญชีและ การเงิน ซึ่งต้องมีความถูกต้องสำหรับผู้ประกอบการนำไปใช้ในการตัดสินใจ และมีความน่าเชื่อถือ สำหรับบุคคลภายนอกที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตามงานบัญชีก็มีความเสี่ยงต่อการเกิดข้อผิดพลาดซึ่งจะก่อ ให้เกิดความเสียหายต่อองค์กร ผู้ประกอบการจะรับมือกับความเสี่ยงในงานบัญชีได้อย่างไร บทความนี้ มีคำตอบ
เมื่อกล่าวถึงการเช่าทรัพย์หรือสัญญาเช่าทรัพย์แล้ว ท่านผู้อ่านหลายท่านที่คลุกคลีอยู่กับวงการภาษีอากรคงจะคุ้นเคยกันเป็นประเด็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับภาษีอากรอย่างดีทั้งนี้ ก็เนื่องมาจากประเด็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับภาษีอากรนั้นมีหลากหลายมากมายจนอาจกล่าวได้ว่าจำกันไม่ไหวเลยทีเดียว อย่างไรก็ดีไม่ว่าประเด็นปัญหาดังกล่าวกรมสรรพากรจะได้มีการวางแนววินิจฉัยไว้แล้วเพียงใดก็ตาม แต่ก็พบว่าผู้ที่เกี่ยวข้องก็ยังคงประสบกับปัญหาต่างๆ กันอยู่ไม่น้อย อาจเนื่องมาจากยังขาดความรู้ความเข้าใจในทางปฏิบัติเกี่ยวกับเอกเทศสัญญาเกี่ยวกับเช่าทรัพย์ตามความหมายของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรืออาจมีความเข้าใจในประเด็นปัญหาภาษีอากรที่คลาดเคลื่อนไปรวมทั้งในทางปฏิบัติมีการใช้คำว่า “เช่า” ให้ครอบคลุมไปถึงธุรกรรมอื่นที่ไม่ใช่ “เช่า” ตามความหมายของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เช่น การเช่าพระเครื่อง การเช่าชั่วโมงอินเทอร์เน็ต การเช่าพื้นที่เพื่อแสดงสินค้าในงานแสดงสินค้าต่างๆ เป็นผลทำให้ความเข้าใจในเรื่องของภาษีอากรเกี่ยวกับเอกเทศสัญญาที่เรียกว่า “เช่าทรัพย์” นั้นคลาดเคลื่อนไปด้วย ผู้เขียนจึงได้รวบรวมเอาเรื่องราวอันเกี่ยวกับการเช่าทรัพย์ ทั้งในด้านความเป็นเอกเทศสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และในด้านของภาษีอากร ไม่ว่าจะเป็นกรณีการมีรายได้จากการให้เช่าทรัพย์ว่าจะต้องมีภาระภาษีอะไรบ้าง เช่น จะต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคลอย่างไร ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ และสัญญาเช้าที่ทำกันนั้นต้องติดอากรแสตมป์อย่างไรหรือไม่ รวมทั้งกรณีที่ผู้เช่าได้จ่ายค่าเช่าไปในบางกรณีว่าจะลงเป็นรายจ่ายทางภาษี หรือนำภาษีมูลค่าเพิ่มที่เกิดขึ้น (ถ้ามี) ไปใช้ได้หรือไม่อย่างไร

สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์