"รายจ่ายต้องห้าม" คืออะไร? พร้อมเปิดวิธีเปลี่ยนเป็น "ค่าใช้จ่าย"

"รายจ่ายต้องห้าม" คืออะไร? พร้อมเปิดวิธีเปลี่ยนเป็น "ค่าใช้จ่าย"


ข้อดีอย่างหนึ่งของการจดบริษัท หรือจดเป็น "นิติบุคคล" คือ ภาษีคิดจากกำไรสุทธิ หลังหักค่าใช้จ่าย ดังนั้นหมายความว่า การบริหารค่าใช้จ่ายที่ดีจะสามารถทำให้กิจการประหยัดภาษีได้อย่างมาก 

วันนี้เรามีเทคนิคประหยัดภาษี โดยการเปลี่ยน "รายจ่ายต้องห้าม" ให้สามารถใช้เป็น ค่าใช้จ่ายที่สรรพากรยอมรับ มาแนะนำกันค่ะ

รายจ่ายต้องห้าม คืออะไร? 

รายจ่ายต้องห้าม คือ รายจ่ายที่สรรพากรกำหนดว่าไม่สามารถนำมาใช้เพื่อหักออกจากรายได้ในการคำนวณกำไรเพื่อเสียภาษีได้

เช่น รายจ่ายที่มีลักษณะดังต่อไปนี้

- รายจ่ายที่มีลักษณะเป็นการส่วนตัว ไม่เป็นไปตามระเบียบของกิจการ 
- รายจ่ายซึ่งกำหนดขึ้นเองโดยไม่มีการจ่ายจริง 
- รายจ่ายที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าใครเป็นผู้รับ 
- รายจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม รายจ่ายค่าปรับ ค่ารับรอง

แต่จริงๆ แล้วเราสามารถเปลี่ยนให้ “รายจ่ายต้องห้าม” เป็นรายจ่ายที่ถูกต้อง และสรรพากรยอมรับ ให้ใช้เป็น "ค่าใช้จ่าย" ได้ โดยรายจ่ายนั้นต้องเอื้อประโยชน์ต่อกิจการ และสามารถพิสูจน์ได้ว่าจ่ายออกไปจริง สามารถนำมาใช้เป็นรายจ่ายในการคำนวณหักภาษี ทำให้กิจการสามารถประหยัดภาษีได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย 

ตามไปดูกันค่ะ ว่ามีรายจ่ายลักษณะไหนบ้าง และกิจการต้องทำอย่างไร จึงจะใช้ประโยชน์ทางภาษีจากรายจ่ายต้องห้ามเหล่านี้

1. ค่าศึกษา/อบรมพนักงาน  มีใบเสร็จรับเงินถูกต้องสมบูรณ์และจ่ายเพื่อพัฒนาองค์กร

รายจ่ายที่เกิดจากการที่กิจการได้จ่ายเพื่อส่งให้พนักงานเข้ารับการศึกษาหรืออบรม หากมีใบเสร็จรับเงินของสถานศึกษา หรือสถานฝึกอบรม รวมถึงพนักงานที่ฝึกอบรมต้องกลับมาทำงานเพื่อสร้างประโยชน์พัฒนาองค์กรต่อไป รายจ่ายลักษณะนี้ไม่ถือเป็นรายจ่ายต้องห้าม และยังนำมาหักค่าใช้จ่ายได้ถึง 2 เท่า

โดยการฝึกอบรมแบ่งเป็น 2 กรณี คือ

1) In-house Training โดยบริษัทเป็นผู้จัดฝึกอบรมขึ้นเอง หรือจ้างบริษัทฝึกอบรมสัมมนาเข้ามาจัดฝึกอบรมให้

2) Public Training โดยส่งพนักงานไปรับการฝึกกับบริษัทฝึกอบรมสัมมนา สถานศึกษา หรือสถานฝึกอบรมฝีมือแรงงาน (ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา)

หากรายจ่ายการส่งพนักงานเข้าฝึกอบรมเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 148) กิจการสามารถนำรายจ่ายดังกล่าวไปใช้หักภาษีได้มากถึง 2 เท่า อย่างเช่นจ่ายค่าอบรม 10,000 บาท สามารถนำมาคำนวณหักภาษีได้ 20,000 บาท  

2. ค่าสัมมนานอกสถานที่   บริษัทระบุกฎระเบียบชัดเจนใช้โดยทั่วไปและเพื่อพัฒนาองค์กร

บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสามารถหักรายจ่ายที่จ่ายสำหรับค่าห้องสัมมนา ค่าห้องพัก ค่าขนส่ง หรือรายจ่ายอื่นที่เกี่ยวข้องกับการอบรมสัมมนาภายในประเทศที่กิจการจัดขึ้นให้แก่ลูกจ้าง หรือรายจ่ายที่ได้จ่ายให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว ตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจนำเที่ยว และมัคคุเทศก์ เพื่อการอบรมสัมมนาภายในประเทศ เป็นจำนวน 2 เท่าของรายจ่ายตามที่จ่ายจริง

เงื่อนไขคือต้องมีระเบียบชัดเจน และพนักงานทุกคนมีสิทธิเข้าร่วม รวมถึงเสริมสร้างความรู้เพิ่มเติมของพนักงาน และเอื้อประโยชน์แก่การพัฒนาองค์กรของกิจการ สามารถนำมาเป็นหลักฐานเพื่อใช้หักภาษีได้ ไม่ถือเป็นรายจ่ายต้องห้าม 

ที่สำคัญ รายจ่ายดังกล่าวต้องจ่ายไปภายในวันที่ 1 มกราคม 2563 – 30 กันยายน 2564 เท่านั้น

นอกจากนี้ยังสามารถนำค่าเดินทาง ค่าห้องสัมมนา ค่าห้องพัก อาหารเครื่องดื่มที่เกี่ยวกับการสัมมนา รวมถึงค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการสัมมนา เช่น ค่าวิทยากร ค่าวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ประกอบสัมมนา ค่าบันทึกภาพ ค่าจัดทำสื่อเกี่ยวกับการสัมมนา ที่มีใบกำกับภาษี และ “ไม่เป็นภาษีต้องห้าม” มาขอคืนภาษีซื้อได้ด้วย

กิจการต่างๆ ที่มี outing ประจำปีให้แก่พนักงาน รายจ่ายเหล่านี้จะสามารถนำมาหักค่าให้จ่ายได้ ตามที่จ่ายจริง แต่การ outing ดังกล่าวถือเป็นผลประโยชน์ที่พนักงานได้รับ จึงต้องนำไปรวมเป็นรายได้ของพนักงานเพื่อเสียภาษีบุคคลธรรมดาด้วย 

ดังนั้น หากเราเปลี่ยนจากพาพนักงานไปพักผ่อนประจำปี เป็นการสัมมนา หรือ team building นอกสถานที่ นอกจากพัฒนาความรู้ของพนักงานแล้วยังสามารถหักค่าใช้จ่ายได้ถึง 2 เท่า โดยที่ไม่ถือว่าเป็นผลประโยชน์ของพนักงานอีกด้วยค่ะ

3.บริจาคให้กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) มีใบเสร็จรับเงินถูกต้องสมบูรณ์

รายจ่ายของกิจการในการบริจาคให้กับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ในนามบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล โดยบริจาคผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ (e-Donation) ให้แก่ กสศ. ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566 
และมีใบเสร็จรับเงินที่ถูกต้องสมบูรณ์ จึงจะถือเป็นรายจ่ายที่สรรพากรยอมรับ สามารถนำมาหักเป็นรายจ่ายได้ถึง 2 เท่าของรายจ่ายที่บริจาค ไม่ว่าจะบริจาคเป็นเงินหรือทรัพย์สิน 

เงื่อนไขคือเมื่อรวมกับรายจ่ายที่เป็นค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษาสำหรับโครงการที่กระทรวงศึกษาธิการเห็นชอบ ต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของกำไรสุทธิก่อนหักรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะ หรือเพื่อการสาธารณประโยชน์ และรายจ่ายเพื่อการศึกษา หรือเพื่อการกีฬาตามมาตรา 65 ตรี (3) (ข) แห่งประมวลรัษฎากร 

การบริจาคเงินให้แก่กองทุนนี้นอกจากจะประหยัดภาษีแล้ว ยังเปิดโอกาสให้กิจการได้ช่วยเหลือนักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ และมีส่วนช่วยในการลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษาอีกด้วย

สรุป

แนวทางการประหยัดภาษีนิติบุคคล โดยเปลี่ยนรายจ่ายต้องห้ามให้สามารถนำมาหักภาษีได้นั้น กิจการต้องให้ความสำคัญกับรายละเอียดข้อมูลในเอกสาร ใบเสร็จรับเงิน หรือหลักฐานต่างๆ ที่ใช้ประกอบการหักภาษี จำเป็นต้องครบถ้วนสมบูรณ์ เพื่อป้องกันไม่ให้รายจ่ายดังกล่าวกลายเป็น รายจ่ายต้องห้าม 

นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายที่จ่ายไปในการฝึกอบรมพนักงาน การออกไปสัมมนานอกสถานที่ รวมทั้งการบริจาคเงินให้แก่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ที่จะสามารถนำมาหักค่าใช้จ่ายได้ 2 เท่า ต้องเป็นไปตาม วิธีการ เงื่อนไข ที่สรรพากรกำหนดด้วยค่ะ


สามารถอ่านบทความน่าสนใจอื่นๆได้ ที่นี่ คลิ๊ก!!



ที่มา :  
LINK

 917
ผู้เข้าชม

บทความที่เกี่ยวข้อง

ข้อมูลทางการบัญชีสื่อให้เห็นภาพที่แท้จริงของธุรกิจ เพื่อให้บุคคลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องสามารถมอง เห็นถึงประสิทธิภาพและความสามารถในการดำเนินงานของธุรกิจทั้งในอดีต ปัจจุบันและพยากรณ์ในอนาคตได้ กลุ่มผู้ใช้ประโยชน์ จากข้อมูลทางการบัญชีแบ่งได้ 2 กลุ่มดังนี้
ทุกครั้งที่นิติบุคคลจ่ายค่าบริการ จะต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายเพื่อนำส่งกรมสรรพากรไม่เกินวันที่ 7 ของเดือนถัดไป  กรณีลืมหักภาษี ณ ที่จ่าย จะสามารถนำมาเป็นค่าใช้จ่ายได้หรือไม่? หลักการพิจารณาให้แยกพิจารณาทีละภาษี
การวางแผนภาษีสิ้นปีเป็นกระบวนการในการจัดการเรื่องการเงินเพื่อผลประโยชน์ทางภาษีประจำปีที่ดีที่สุด ซึ่งรวมถึงการกำหนดเวลาการขายการซื้อหรือการเปลี่ยนแปลงบางอย่างเพื่อให้สามารถดำเนินการในกรอบเวลาที่ดีที่สุด การชะลอการกระทำหรือสร้างความมั่นใจว่ากิจกรรมบางอย่างเกิดขึ้นก่อนสิ้นปีจะมีผลอย่างมากต่อการเรียกเก็บภาษี มีปัจจัยภายในและภายนอกหลายประการที่อาจส่งผลกระทบต่อการวางแผนภาษีสิ้นปีเช่นกัน
การวางแผนภาษีอากร (Tax Planning) คือ การกำหนดแนวทางการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม เพื่อการปฏิบัติในอนาคตเกี่ยวกับรายการทางการเงิน (Financial Transactions) อาทิ รายการรายได้ ค่าใช้จ่ายต่างๆ และจำนวนกำไรหรือขาดทุน ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นทางภาษีอากรทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ในอันที่จะป้องกันมิให้เกิดปัญหาภาษีอากรไม่ว่าประการใดๆ โดยมุ่งหมายให้การเสียภาษีอากรและการปฏิบัติการเกี่ยวกับภาษีอากรขององค์กรเป็นไปโดยถูกต้อง และครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายภาษีอากรกำหนดไว้ และเป็นผลให้จำนวนภาษีอากรที่ต้องเสียนั้น เป็นจำนวนน้อยที่สุดหรือประหยัดที่สุด รวมทั้งใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรสูงสุด ทั้งนี้ โดยไม่อาศัยการทุจริตหลีกเลี่ยงภาษีอากร
การเริ่มต้นจัดทำบัญชีของห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน และบริษัทจำกัดนั้น จะต้องเริ่มจากตรงไหนก่อน และทำอะไรบ้าง เป็นคำถามที่หลายท่านสงสัย ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการ หรือแม้แต่กระทั่งนักบัญชีมือใหม่เอง
เจ้าของกิจการย่อมต้องทราบดีว่านิติบุคคลมีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคลปีละ 2 ครั้ง คือ รอบครึ่งปี (ภ.ง.ด.51) และรอบสิ้นปี (ภ.ง.ด. 50)  ยกเว้นเฉพาะนิติบุคคลจะไม่ต้องยื่นภาษีเงินได้รอบครึ่งปีก็ต่อเมื่อเริ่มประกอบกิจการเป็นปีแรก หรือ ยกเลิกกิจการ ซึ่งทำให้มีรอบระยะเวลาบัญชีไม่ครบ 12 เดือน

สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์