ความแตกต่างระหว่าง ภ.ง.ด.50 และ ภ.ง.ด.51

ความแตกต่างระหว่าง ภ.ง.ด.50 และ ภ.ง.ด.51

ภ.ง.ด.50 เป็นแบบภาษีที่เอาไว้ยื่นภาษีเงินได้นิติบุคคลตอนปลายปี ส่วน ภ.ง.ด.51 เป็นแบบภาษีที่เอาไว้ยื่นภาษีเงินได้นิติบุคคลตอนกลางปี

ภ.ง.ด 50 คืออะไร?

ตามกฎหมายแล้วนิติบุคคล (เช่น ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด บริษัทมหาชนจำกัด) มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้เงินนิติบุคคล ซึ่งตามกฎหมายกำหนดให้นิติบุคคลเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลปีละ 2 ครั้งคือตอนกลางปี และตอนปลายปี

สำหรับการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตอนปลายปีนั้นจะต้องใช้แบบ ภ.ง.ด. 50 เป็นแบบที่ผู้ประกอบการต้องกรอก เซ็นรับรองแบบโดยกรรมการหรือฝ่ายบัญชี ผู้สอบบัญชี และต้องแนบงบการเงินที่มีผู้สอบบัญชีเซ็นรับรอง เพื่อนำส่งกรมสรรพากร โดยตามกฎหมายนิติบุคคลมีหน้าที่นำส่งแบบดังกล่าวภายใน 150 วัน ยกตัวอย่างเช่น หาก บริษัท Z จำกัด ปิดงบประจำปีวันที่ 31 ธันวาคม บริษัท Z จำกัด ก็มีหน้าที่ต้องนำส่งแบบ ภ.ง.ด.50 ภายในวันที่ 30 พฤษภาคม ของปีถัดไป (150 วันนับจากวันที่ 31 ธันวาคม)

หลักการในการกรอกแบบ ภ.ง.ด.50 คือผู้ประกอบการ/ผู้ทำบัญชี จะต้องหากำไรทางภาษีมาคูณกับอัตราภาษีและนำมากรอกในแบบ ภ.ง.ด.50

ภาษีเงินได้นิติบุคคล = กำไรทางภาษี x อัตราภาษี  

วิธีการกรอกแบบ ภ.ง.ด.50

สำหรับตัวอย่างแบบ ภ.ง.ด.50 และวิธีการในการกรอกแบบ ทุกท่านสามารถดูรายละเอียดจากกรมสรรพากรตามลิงค์นี้ได้เลยครับ : วิธีการกรอกแบบ ภ.ง.ด.50

ภ.ง.ด. 51 คืออะไร?

ตามที่ผมได้กล่าวไปแล้วว่าตัวภาษีเงินได้นิติบุคคลนั้นจะต้องยื่น 2 ครั้งนั่นคือกลางปีและปลายปี ภ.ง.ด.51 เป็นแบบภาษีที่เอาไว้ยื่นตอนกลางปี ซึ่งตัวแบบดังกล่าวจะต้องเซ็นรับรองแบบโดยกรรมการหรือฝ่ายบัญชี เพื่อนำส่งกรมสรรพากร ตามกฎหมายนิติบุคคลมีหน้าที่นำส่งแบบดังกล่าวภายใน 2 เดือนนับจากวันที่กลางปี ยกตัวอย่างเช่น หาก บริษัท Y จำกัด ปิดงบประจำปีวันที่ 31 ธันวาคม กลางปีคือวันที่ 30 มิถุนายน ดังนั้นบริษัท Y จำกัด ก็มีหน้าที่ต้องนำส่งแบบ ภ.ง.ด.51 ภายในเดือน สิงหาคม ของทุกปี (2 เดือนนับจากเดือนมิถุนายน)

วิธีการกรอกแบบ ภ.ง.ด. 51

สำหรับการกรอกแบบ ภ.ง.ด.51 จะมีรายละเอียดเพิ่มเติมที่ควรทราบคือ การคำนวณภาษีกลางปีจะมี 3 รูปแบบให้เลือกคือ

  1. กรณีเสียภาษีจากกึ่งหนึ่งของประมาณการกำไรสุทธิ
  2. กรณีเสียภาษีจากกำไรสุทธิของรอบระยะเวลาบัญชีหกเดือนแรก
  3. กรณีเสียภาษีจากยอดรายรับก่อนหักรายจ่าย

สำหรับกรณีแรก : กรณีเสียภาษีจากกึ่งหนึ่งของประมาณการกำไรสุทธิ จะเอาไว้ใช้สำหรับนิติบุคคลทั่วๆไปที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ไม่ได้เป็นธนาคาร ไม่ได้เป็นธุรกิจหลักทรัพย์ หรือไม่ได้เป็นธุรกิจประกันภัย โดยให้ประมาณการกำไรสุทธิประจำปี แล้วเอามาเสียภาษีครึ่งหนึ่ง

สำหรับเหตุผลที่จะใช้ประมาณการกำไร เนื่องจากว่าบริษัทกลุ่มนี้ โดยมากแล้วจะปิดบัญชีกันปีละหนึ่งครั้งคือตอนสิ้นปีทีเดียว ดังนั้นจึงยังไม่มีตัวเลขกำไรที่แท้จริงในรอบครึ่งปีที่ผ่านมา จึงต้องเสียภาษีจากประมาณการกำไรสุทธิประจำปี แล้วเอามาเสียภาษีครึ่งหนึ่งไปก่อน

สำหรับกรณีที่สอง : กรณีเสียภาษีจากกำไรสุทธิของรอบระยะเวลาบัญชีหกเดือนแรก บริษัทกลุ่มนี้ เช่น บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ธนาคาร ธุรกิจหลักทรัพย์ หรือประกันภัย ให้เสียภาษีจากกำไรที่เกิดขึ้นจริงในช่วงครึ่งปีแรก

สำหรับเหตุผลที่จะใช้กำไรที่เกิดขึ้นจริง เนื่องจากว่าบริษัทกลุ่มนี้ โดยมากแล้วจะปิดบัญชีกันทุกๆเดือนและจะต้องมีผู้สอบบัญชีมาสอบทาน/ตรวจสอบงบการเงินอย่างน้อยไตรมาศละครั้ง ดังนั้นบริษัทกลุ่มนี้จึงมีตัวเลขกำไรที่แท้จริงในรอบครึ่งปีที่ผ่านมา จึงต้องเสียภาษีจากกำไรที่เกิดขึ้นจริงในช่วงครึ่งปีแรกได้

สำหรับกรณีที่สาม : กรณีเสียภาษีจากยอดรายรับก่อนหักรายจ่าย สำหรับผู้เสียภาษีในกรณีนี้จะมีอยู่ 2 ประเภทหลักๆดังนี้

  1. กิจการขนส่งระหว่างประเทศของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลต่างประเทศ
  2. มูลนิธิหรือสมาคมที่ประกอบกิจการแล้วมีรายได้

ฐานภาษีของนิติบุคคล กลุ่มนี้จะเสียภาษีจากรายรับก่อนหักรายจ่ายครับ และในการยื่นแบบเพื่อเสียภาษีตอนปลายปี หากเป็นกิจการขนส่งระหว่างประเทศของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลต่างประเทศจะใช้แบบ ภ.ง.ด.52 หากเป็น มูลนิธิหรือสมาคมที่ประกอบกิจการแล้วมีรายได้ จะใช้แบบ ภ.ง.ด.55 โดยจะต้องนำส่งภาษีภายใน 150 วันนับจากวันที่สิ้นรอบบัญชีครับ

สำหรับตัวอย่างแบบ ภภ.ง.ด.51 และวิธีการในการกรอกแบบ ทุกท่านสามารถดูรายละเอียดจากกรมสรรพากรตามลิงค์นี้ได้เลยครับ : วิธีการกรอกแบบ ภ.ง.ด.51

สรุป

สำหรับท่านที่ยังสงสัยว่า แบบ ภ.ง.ด.50 และ แบบ ภ.ง.ด.51 คืออะไร? สามารถสรุปง่ายๆได้แบบนี้ครับว่า ภ.ง.ด.50 เป็นแบบที่เอาไว้ใช้ยื่นภาษีเงินได้นิติบุคคลตอนปลายปี ส่วนแบบ ภ.ง.ด.51 เป็นแบบที่เอาไว้ใช้ยื่นภาษีเงินได้นิติบุคคลตอนกลางปี


สามารถอ่านบทความน่าสนใจอื่นๆได้ ที่นี่ คลิ๊ก!!



บทความโดย : tanateauditor.com

 13031
ผู้เข้าชม

บทความที่เกี่ยวข้อง

หลายคนอาจมีคำถามว่า บุคคลธรรมดาผู้มีเงินได้ก็ยื่นภาษีทุกปีอยู่แล้วทำไมต้องยื่นเสียภาษีครึ่งปีอีก? ซึ่งก็มีแค่บุคคลที่มีเงินได้บางประเภทเท่านั้นที่เข้าข่ายต้องเสียภาษีครึ่งปี โดยการเสียภาษีครึ่งปีนี้ถือเป็นการบรรเทาภาระภาษี เพราะหากไม่มีการยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด. 94 หรือ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี จะต้องยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและชำระภาษีเป็นเงินจำนวนมาก โดยภาษีเงินได้ครึ่งปีที่จ่ายไป สามารถนำไปใช้หักออกจากภาษีประจำปีที่คำนวณได้ ตัวอย่างเช่น นายเอได้ยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปีไปแล้วจำนวน 6,000 บาท พอสิ้นปีนายเอคำนวณภาษีที่ต้องจ่ายเป็นจำนวน 9,000 บาท นายเอก็จ่ายภาษีเพิ่มแค่ 3,000 บาทเท่านั้น  (9,000-6,000 บาท)
e-Withholding Tax (e-WHT) หรือภาษีหัก ณ ที่จ่าย เป็นบริการที่กรมสรรพากรพัฒนาขึ้นเพื่อเพิ่มความสะดวกลดขั้นตอนให้แก่ผู้ที่มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายทำการนำส่งเงินภาษีต่อกรมสรรพากร โดยมีธนาคารเป็นตัวกลางในการนำส่งข้อมูลและส่งเงินภาษีให้กับกรมสรรพากร โดยที่ผู้ประกอบการไม่ต้องจัดทำหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ดังนั้น ประโยชน์ที่เราจะเห็นได้ชัดเจนเลยก็คือ
การทำบัญชีถือเป็นหัวใจหลักของการทำธุรกิจ เพราะบัญชีจะทำให้คุณทราบที่มาที่ไปของเงินในแต่ละส่วน มองเห็นผลกำไร ขาดทุนได้อย่างชัดเจนและที่สำคัญการทำบัญชียังช่วยลดการเกิดทุจริตภายในกิจการ สามารถทำการตรวจสอบย้อนข้อมูลทางการเงินหลังได้บริษัทส่วนใหญ่จึงทำการจ้างนักบัญชีเข้ามาทำงานในส่วนนี้ เพื่อความถูกต้อง
ตรายางบริษัท เป็นเครื่องมือทางธุรกิจอย่างหนึ่ง ประกอบไปด้วยโลโก้บริษัท หรืออาจใส่ชื่อบริษัทเข้าไปด้วยก็ได้ ตรายางบริษัทต้องสั่งทำเป็นพิเศษ เพื่อใช้สำหรับเป็นตัวแทนบริษัท หรือองค์กร ในการรับรองเอกสาร การทำธุรกรรม และทำนิติกรรมต่างๆ โดยเฉพาะ  

สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์