ภาษีที่ดินและภาษีบำรุงท้องที่ต่างกันอย่างไร

ภาษีที่ดินและภาษีบำรุงท้องที่ต่างกันอย่างไร



เชื่อว่ามีหลายคนเลยทีเดียวที่คิดว่า ภาษีที่ดินกับภาษีบำรุงท้องที่เป็นภาษีชนิดเดียวกัน เพียงแต่มีคนเรียกให้ต่างกันเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว ภาษีทั้งสองชนิดแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง และด้วยความเข้าใจที่ผิดเพี้ยนไปนี้เอง ทำให้หลายคนไม่รู้ว่าตนเองต้องจ่ายภาษีอะไรกันแน่ ยิ่งถ้าหากเป็นเจ้าของที่ดิน นายหน้า และเหล่านักอสังหาริมทรัพย์ ยิ่งต้องแยกให้ออกว่า ระหว่างภาษีทั้งสองประเภทต่างกันอย่างไร ที่สำคัญคือ ภาษีเหล่านี้ใน พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับใหม่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมหรือไม่

ภาษีที่ดินและภาษีบำรุงท้องที่คืออะไร

ภาษีที่ดิน หรือภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นภาษีที่เจ้าของ ผู้ครอบครอง และผู้ที่ทำประโยชน์ในที่ดินและ/หรือสิ่งปลูกสร้างมีหน้าที่ชำระแบบรายปีตามมูลค่าที่ดิน บ้าน และอาคาร และใน พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ฉบับล่าสุด ปี 2562 กำหนดให้จัดเก็บภาษีแบบใหม่ โดยให้เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป

ภาษีบำรุงท้องที่คือ ภาษีที่จะจัดเก็บจากเจ้าของที่ดินทั้งบุคคลและนิติบุคคลซึ่งได้ถือครอง ไม่ว่าจะมีเอกสารสิทธิ์หรือไม่ก็ตาม โดยยึดจากข้อกำหนดใน พ.ร.บ. ภาษีบำรุงท้องที่ ปี 2508 (ฉบับที่ 2 ปี 2529) ที่สำคัญคือ การจัดเก็บภาษีนั้นเป็นไปตามราคาปานกลางที่ประเมินทุก 4 ปี จากส่วนราชการที่มีหน้าที่รับผิดชอบเท่านั้น

ภาษีที่ดินและภาษีบำรุงท้องที่เหมือนหรือต่างกันอย่างไร

ภาษีที่ดินและภาษีบำรุงท้องที่มีข้อกำหนดที่เหมือนกัน คือ การจัดเก็บภาษีจะนับตามพื้นที่ของที่ดินที่มีผู้ถือครองตามกรรมสิทธิ์ (ทั้งในนามบุคคลและนิติบุคคล) สถานที่ชำระภาษีนั้นขึ้นอยู่กับที่ตั้งของที่ดิน ได้แก่ สำนักงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือสำนักงานเขตของพื้นที่ที่ดิน รวมทั้งการมีช่องทางยื่นและชำระภาษีผ่านธนาณัติหรือธนาคารกรุงไทยทั้งในระบบ ATM และอินเทอร์เน็ตได้ นอกจากนี้ ยังมีข้อยกเว้นการจัดเก็บภาษีกับที่ดินบางประเภท เช่น ที่ดินที่เป็นทรัพย์สินของรัฐหรือหน่วยงานของรัฐที่ใช้ในกิจการของรัฐ ที่ดินที่เป็นที่ตั้งของพระราชวัง ราชการส่วนท้องถิ่นและสถานทูต เพราะถือว่าเป็นทรัพย์สินของประเทศโดยชอบธรรม

อย่างไรก็ดี ภาษีที่ดินและภาษีบำรุงท้องที่มีข้อต่างกันอยู่หลายประการดังนี้

อัตราภาษีที่ดินและภาษีบำรุงท้องที่

อัตราการจัดเก็บภาษีที่ดินในปี 2563 ตาม พ.ร.บ. ฉบับใหม่ จำแนกตามประเภทของทรัพย์สิน ได้แก่ ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม ที่อยู่อาศัย พาณิชยกรรม และที่ทิ้งไว้ว่างเปล่า โดยมีอัตราการจัดเก็บตั้งแต่ 0.15–1.2% ในขณะที่ภาษีบำรุงท้องที่มีอัตราการจัดเก็บจากราคาปานกลางที่ประเมินทุก 4 ปี และใน พ.ร.บ. ภาษีบำรุงท้องที่ ปี 2508 (ฉบับที่ 2 ปี 2529) ยังคงให้ใช้เกณฑ์การคำนวณภาษีบำรุงท้องที่จากฐานราคาปานกลางของที่ดินสำหรับการประเมินภาษีมาจนถึงปัจจุบัน เช่น ราคาปานกลางประเมินครั้งล่าสุดปี 2560 ก็ต้องเสียภาษีบำรุงท้องที่ตามการประเมินทั้งหมด 4 ปี คือ ปี 2560, 2561, 2562 และ 2563 ในอัตราที่เท่า ๆ กัน

การขอคืนเงินภาษีที่ดินและภาษีบำรุงท้องที่

ในการขอคืนเงินภาษีที่ดินนั้น คุณสามารถกระทำได้ก็ต่อเมื่อชำระภาษีที่ดินเกินกว่าความเป็นจริง และต้องขอคืนภายใน 3 ปี นับตั้งแต่วันที่ชำระภาษีไปแล้ว โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะเป็นผู้ประเมินภาษีที่ผิดพลาด แต่ในการขอคืนเงินภาษีบำรุงท้องที่นั้น คุณจะสามารถกระทำได้ก็ต่อเมื่อได้รับคำพิพากษาของศาลหรือถูกจัดเก็บไม่ตรงตามราคาปานกลางที่ประเมินในทุก ๆ 4 ปี เช่น หากคุณเสียภาษีในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2561 และในปี 2562 พบว่าต่ำกว่ายอดชำระในปีที่ผ่านมา คุณจะต้องยื่นคำร้องเพื่อขอคืนภาษีบำรุงท้องที่ภายใน 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ชำระภาษี

การชำระภาษีที่ดินและภาษีบำรุงท้องที่

ในขั้นตอนการเสียภาษีที่ดิน ผู้เสียภาษีจะได้รับแบบประเมินจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นภายในเดือนกุมภาพันธ์ของปีนั้น ๆ โดยแบบประเมินจะประกอบด้วยรายการที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง ราคาประเมินทุนทรัพย์ อัตราภาษี จำนวนภาษีที่ต้องชำระ รวมถึงข้อมูลว่าจ่ายที่ไหนได้บ้าง แต่ในขั้นตอนการเสียภาษีบำรุงท้องที่ ผู้เสียภาษีต้องใช้ใบแสดงรายการที่ดินที่ได้ยื่นภายในเดือนมกราคมของทุก 4 ปี มาประกอบกับหลักฐานอื่นเพิ่มเติม เพื่อยื่นชำระภาษีเช่นเดียวกับภาษีที่ดิน เช่น โฉนดที่ดิน น.ส.3 หนังสือมอบอำนาจ และบัตรประจำตัวประชาชน ทั้งนี้ต้องชำระภาษีทั้งสองประเภทนี้ไม่เกิน 30 เมษายน ของปีนั้น ๆ

บทลงโทษกรณีไม่ชำระภาษีที่ดินและภาษีบำรุงท้องที่ตามกำหนด

หากใครที่ไม่ไปชำระภาษีที่ดินใหม่ตามกำหนด จะได้รับบทลงโทษที่แตกต่างกันออกไป เช่น หากชำระภาษีไม่ครบตามกำหนด จะมีเบี้ยปรับตั้งแต่ 10-40% หากชำระล่าช้ากว่ากำหนด จะถูกคิดอัตราเงินเพิ่ม (ดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นเมื่อชำระภาษีล่าช้า) ประมาณ 1% ต่อเดือน และหากหลีกเลี่ยงการเสียภาษี จะมีโทษทางอาญาคือต้องระวางโทษจำคุกสูงสุด 2 ปี หรือปรับสูงสุด 40,000 บาท

ในขณะที่บทลงโทษของภาษีบำรุงท้องที่นั้นเป็นไปตามการพิจารณาเจตนา เช่น หากแจ้งรายละเอียดอันเป็นเท็จ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรือหากผู้ใดฝ่าฝืนคำสั่งนายอำเภอหรือนายกเทศมนตรี ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน ปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่สามารถลดหย่อนโทษได้ หากนายอำเภอและ/หรือนายกเทศมนตรีเห็นว่าไม่ควรได้รับโทษ และต้องชำระภาษีรวมค่าปรับให้แล้วเสร็จต่อไป

นอกจากนี้ หากต้องการยื่นอุทธรณ์ภาษีที่ดิน สามารถกระทำได้โดยยื่นต่อผู้บริหารท้องถิ่นภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับการแจ้งประเมินภาษีหรือเรียกเก็บภาษี แต่หากเป็นภาษีบำรุงท้องที่ สามารถทำได้ 2 กรณี คือ กรณีที่ไม่เห็นพ้องกับราคาปานกลางของที่ดินและได้รับการประเมินภาษีที่ไม่ถูกต้อง โดยสามารถยื่นอุทธรณ์ได้ภายใน 30 วัน

อาจจะเป็นเพราะภาษีที่ดินและภาษีบำรุงท้องที่นั้นมีชื่อเรียกที่คล้ายคลึงกันและมีการเรียกเก็บโดยคำนวณจากพื้นที่ของที่ดิน จึงทำให้หลายคนเข้าใจว่าเป็นภาษีชนิดเดียวกัน แต่ในความเป็นจริงแล้ว แตกต่างกันหลายประการ เช่น อัตราการคำนวณที่ใช้เกณฑ์ที่แตกต่างกัน โดยภาษีที่ดินคำนวณจากประเภทของทรัพย์สินในขณะที่ภาษีบำรุงท้องที่คำนวณจากราคาปานกลาง หากมีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งโดยทั่วไปมักเข้าเกณฑ์ต้องชำระภาษีทั้งสองนี้ คุณต้องไปดำเนินการยื่นชำระภาษีดังกล่าวให้เรียบร้อย อย่าละเลยโดยเด็ดขาด มิเช่นนั้น คุณอาจได้รับหมายศาลแจ้งการดำเนินการบทลงโทษก็เป็นได้

สามารถอ่านบทความน่าสนใจอื่นๆได้ ที่นี่ คลิ๊ก!



ขอบคุณบทความจาก ::Ddproperty
ประกาศบทความโดย :: www.prosofterp.com

 455
ผู้เข้าชม

บทความที่เกี่ยวข้อง

แม้ ภ.ง.ด.1 และ ภ.ง.ด.1ก จะมีหน้าที่บอกกรมสรรพากรว่าบริษัทมีพนักงานกี่คนแต่ละคนได้เงินเดือนเท่าไหร่และเสียภาษีหัก ณ ที่จ่ายไปเท่าไหร่แต่ก็มีความแตกต่างในการกรอกรายละเอียดและช่วงเวลาในการนำส่ง กล่าวคือ
ความเสี่ยงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับทุกองค์กรธุรกิจ เป็นโอกาสที่จะเกิดความผิดพลาด ความเสียหาย การรั่วไหล ความสูญเปล่าหรือเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ ซึ่งอาจเกิดขึ้นในอนาคต และมีผลกระทบ ที่จะทำให้การดำเนินงานไม่ประสบความสำเร็จหรือบรรลุตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายขององค์กร ที่กำหนดไว้ งานบัญชีเป็นงานที่มีความสำคัญมากของทุกองค์กร มีความเกี่ยวข้องกับข้อมูลบัญชีและ การเงิน ซึ่งต้องมีความถูกต้องสำหรับผู้ประกอบการนำไปใช้ในการตัดสินใจ และมีความน่าเชื่อถือ สำหรับบุคคลภายนอกที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตามงานบัญชีก็มีความเสี่ยงต่อการเกิดข้อผิดพลาดซึ่งจะก่อ ให้เกิดความเสียหายต่อองค์กร ผู้ประกอบการจะรับมือกับความเสี่ยงในงานบัญชีได้อย่างไร บทความนี้ มีคำตอบ
ใบกำกับภาษี (Tax Invoice) คือ เอกสารหลักฐานสำคัญ ซึ่งผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มจะต้องจัดทำและออกให้กับผู้ซื้อสินค้าหรือบริการทุกครั้งที่มีการขายสินค้าหรือบริการ เพื่อแสดงมูลค่าของสินค้าหรือบริการและจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนเรียกเก็บหรือพึงเรียกเก็บจากผู้ซื้อสินค้าหรือบริการในแต่ละครั้ง
ธุรกิจนิติบุคคลหรือการดำเนินธุรกิจที่มีเจ้าของกิจการอยู่รวมกันมากกว่า หนึ่งคนขึ้นไปนั้น ไม่ว่าจะอยู่ในรูปลักษณะของบริษัททั่วไปทั้งธรรมดาและมหาชน ห้างหุ้นส่วนจำกัด กิจการร่วมค้า มูลนิธิหรือสมาคม ฯลฯ ที่ได้ไปทำการขึ้นจดทะเบียนไว้เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายกับทางหน่วยงานราชการ

สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์